Onlinenewstime.com : การจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนตุลาคม
– จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ
ในเดือนตุลาคม 2562 จำนวน 5,751 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 6,954 ราย ลดลงจำนวน 1,203 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 6,197 ราย ลดลงจำนวน 446 ราย คิดเป็นร้อยละ 7
– ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 524 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 323 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 193 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
– มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 98,509 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 28,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 70,194 ล้านบาท คิดเป็น 2.48 เท่า และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 19,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 78,547 ล้านบาท คิดเป็น 3.93 เท่า
– ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุน ที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,024 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.97 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,624 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.24 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.39 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.40
– ธุรกิจจัดตั้งใหม่สะสม จำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. 62 มีจำนวน 63,359 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค. 61) จำนวน 62,468 ราย โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 891 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 และเป็นการตั้งธุรกิจสะสม 10 เดือนแรกที่สูงที่สุด สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. 62 มีจำนวน 284,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,170 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค. 61) จำนวน 260,448 ล้านบาท
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ เดือนตุลาคม
– จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,116 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 1,938 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 178 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 2,166 ราย ลดลงจำนวน 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 2
– ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 180 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 135 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
– มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 8,050 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 15,361 ล้านบาท ลดลงจำนวน 7,311 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 10,088 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,038 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20
– ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,464 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.18 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 519 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.53 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 125 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.91 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.38
– ธุรกิจเลิกสะสม จำนวนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. 62 มีจำนวน 14,070 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 288 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค. 61) จำนวน 13,782 ราย สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. 62 มีจำนวน 82,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,550 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค. 61) จำนวน 72,409 ล้านบาท
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนตุลาคม
– ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ต.ค. 62) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน746,504 ราย มูลค่าทุน 18.18 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,539 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.72 บริษัทจำกัด จำนวน 560,708 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.11 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,257 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
– ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 441,932 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.20 รวมมูลค่าทุน 0.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.15 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 218,572 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.28 รวมมูลค่าทุน 0.72 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.96 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 70,610 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.46 รวมมูลค่าทุน 1.92 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.56 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,390 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.06 รวมมูลค่าทุน 15.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.33 ตามลำดับ
แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจ
แนวโน้มของการจัดตั้งธุรกิจ เมื่อประเมินจากสถานการณ์การจดทะเบียนและสภาพเศรษฐกิจ คาดว่าในปี 2562 จะมีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลจากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจสะสม 10 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. – ต.ค.) ที่มีการเติบโตจากปีที่ผ่านมา ผนวกกับสถิติค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของแต่ละปี (พ.ย. – ธ.ค.) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด และธนาคารพาณิชย์ต่างประกาศลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากลง จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว
เดือนตุลาคม
– เดือนตุลาคม 2562 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 57 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 41 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 66,239 ล้านบาท
– นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 17 ราย เงินลงทุนกว่า 10,378 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 1,108 ล้านบาท และฮ่องกง 6 ราย เงินลงทุน 1,855 ล้านบาท
– การเปรียบเทียบการลงทุนรายเดือน เมื่อเปรียบเทียบการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติในเดือนตุลาคม กับเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 โดยมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 48,645 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่า