onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,048 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 282 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 18 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,048 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 282 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
- ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 831 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการทางบัญชี และบริการรับจ้างผลิตอุปกรณ์กีฬาตกปลา โดยเป็น คนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์
- ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 37 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับจ้างผลิตหมึกพิมพ์โลหะและสารเคลือบโลหะ บริการรับจ้างผลิตข้อต่อท่อระบายน้ำในระบบหม้อน้ำรถยนต์ บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากพลาสติกและโลหะ บริการติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาประตู หน้าต่าง รั้ว บริการติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาเครื่องสำรองไฟฟ้าและปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี
- ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 180 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าและตัวแทนรับชำระเงินค่าบริการการประกอบและการจัดส่งเฟอร์นิเจอร์ การค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบระบบลม การค้าส่งเครื่องวิทยุคมนาคมสื่อสารระยะสั้น การค้าปลีกเครื่องมือและอุปกรณ์ระบบระบายอากาศและระบบจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ การค้าปลีกเครื่องมือวัดอุณหภูมิ วัดแรงดัน สำหรับวัดคุณภาพของเหลวและแก๊ส โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทย ยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสารเคลือบโลหะ (BPA NI) องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำจากพลาสติกและโลหะ องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติ และเทคนิคในการออกแบบระบบระบายอากาศ และระบบจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของเครื่องมือวัดอุณหภูมิ วัดแรงดัน สำหรับวัดคุณภาพของเหลวและแก๊ส องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของเครื่องสำรองไฟฟ้า และปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ลดลงจากเดือนก่อน 2 ราย คิดเป็น 10 % ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 573 ล้านบาท คิดเป็น 121 % เนื่องจากเดือนสิงหาคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ และการค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบระบบลม ชุดฝึกอุปกรณ์ลม เป็นต้น
โดยในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 178 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,546 ล้านบาท ในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 192 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,842 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 ทั้งปี (มกราคม – ธันวาคม) คนต่างด้าว ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 270 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,302 ล้านบาท