Onlinenewstime.com : คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. สรุปเรื่องร้องเรียน 4 ปี หลังจากทำงานเต็มรูปแบบในการทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า โดยจนถึงปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 97 เรื่อง
จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ทั้งหมด 19 ธุรกิจ เป็นธุรกิจประเภทพาณิชย์มีการร้องเรียนสูงสุดถึง 38 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าปลีก แฟรนไชส์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และเมื่อจำแนกตามพฤติกรรมที่กระทำความผิด แบ่งเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ 13 เรื่อง การตกลงร่วมกันทางธุรกิจ 6 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม 66 เรื่อง และไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 รวม 12 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม กขค. ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือไกด์ไลน์ เพื่อสร้างความชัดเจน และให้มีมาตรฐานทางการค้าที่เป็นธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ จำนวน 4 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นและมุ่งเน้น ให้การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนตั้งแต่พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2564) มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 97 เรื่อง แบ่งเป็นปี 2560 จำนวน 2 เรื่อง ปี 2561 จำนวน 11 เรื่อง ปี 2562 จำนวน 20 เรื่อง ปี 2563 จำนวน 30 เรื่อง และปี 2564 จำนวน 36 เรื่อง ใน 19 ประเภทธุรกิจ
โดยธุรกิจประเภทพาณิชย์ มีการร้องเรียนสูงสุดถึง 38 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าปลีก แฟรนไชส์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หากจำแนกตามพฤติกรรม ที่กระทำความผิดแบ่งเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ มาตรา 50 จำนวน 13 เรื่อง การตกลงร่วมกันทางธุรกิจ มาตรา 54 จำนวน 6 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 57 จำนวน 66 เรื่อง และไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 จำนวน 12 เรื่อง
ซึ่งมีคดีสำคัญที่ กขค. พิจารณาว่ามีความผิดตามมาตรา 57 และดำเนินการลงโทษปรับทางปกครอง จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการขนถ่ายสินค้าผ่านแดน กรณีกีดกันทางการค้า ในธุรกิจผลผลิตการเกษตร กรณีการปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมแสดง และจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม
กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเป็นตันแทนจำหน่ายเครื่องมือและเครื่องจักรกลการเกษตร กรณีโรงคัดบรรจุผลไม้ปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม กรณีผู้ให้บริการขนส่งพัสดุปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ซึ่งโทษสูงสุดตามกฎหมาย กำหนดไว้ต้องชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
นายสันติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กขค. ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือเรียกสั้นๆ ว่าไกด์ไลน์ เพื่อสร้างความชัดเจน และให้มีมาตรฐานทางการค้าที่เป็นธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ
โดยที่ผ่านมา ได้จัดทำไกด์ไลน์ซี่งมีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ไกด์ไลน์ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ และมีอีก 1 ไกด์ไลน์ คือไกด์ไลน์การให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับ SMEs ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และในระหว่างนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ไกด์ไลน์กำหนด
กขค. มีความมุ่งมั่นและมุ่งเน้นให้การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี และเป็นธรรม โดยสร้างมาตรฐานทางการค้าให้เป็นสากล โดยไม่เลือกปฏิบัติ
ท้ายที่สุดผลประโยชน์ ก็จะตกอยู่กับประชาชนทั่วไป ที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสมต่อไป
หากผู้ประกอบธุรกิจรายใด ได้รับการเอารัดเอาเปรียบการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) โทร. 0 2199 5444 หรือทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th