onlinenewstime.com : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ( 17 เมษายน ) เห็นชอบร่าง Road Map การจัดการขยะพลาสติก เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกภาพรวมของประเทศ ตั้งเป้านำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2570
พันเอก อภิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม.ว่า ครม.เห็นชอบร่าง Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561 – 2573 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ เป็นแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการของหน่วยงาน
แบ่งออกเป็น 2 เป้าหมาย
1. ลด และ เลิกใช้ พลาสติก โดยใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ภายในปี 2562 เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ่ และพลาสติกผสมสารไมโครบีท
ภายในปี 2565 ยกเลิกใช้ อีก 4 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก (ยกเว้นใช้กรณีที่มีความจำเป็น สำหรับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย) และแก้วพลาสติก แบบบางประเภทใช้ครั้งเดียว
2. นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษา และกำหนดเป้าหมายของพลาสติก ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ส่วนที่เป็นของเสียก็จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ร่างแผนปฏิบัติการแบ่งเป็น 3 มาตรการ คือ
มาตรการลดการเลิกขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ในขั้นตอนบริโภค โดยการขับเคลื่อนการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
มาตรการจัดการขยะพลาสติก หลังจากการบริโภค โดยจะมีการส่งเสริม สนับสนุนการนำขยะพลาสติก เข้าสู่ระบบการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
กลไกในการขับเคลื่อน มี 4 กลไก
- การสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการ
- รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
- ใช้เครื่องมือและกลไกที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในทุกภาคส่วน นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ โดยการศึกษาวิจัย เพื่อที่จะพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะพลาสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม และเร่งออกกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการจัดการขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศ
ผลที่จะได้รับจากโรดแมป คาดจะสามารถลดขยะพลาสติกได้เป็นปริมาณถึงประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี สามารถประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.2 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า