Onlinenewstime.com : 4 หน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ในการดำเนินงานโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพระบบงาน
นำร่อง 3 โครงการ กรมสรรพากร –กรมศุลกากร จับมือพัฒนาระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว กรมบัญชีกลาง ยกระดับระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พัฒนาการออมผ่านพันธบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หนุนคนไทยเข้าถึงการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ บล็อกเชนช่วยลดขั้นตอน รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ที่ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้นการลงนามความร่วมมือสำหรับแต่ละโครงการในวันนี้ (13 พ.ย. 2562) จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการ Execution โครงการใช้เทคโนโลยี Blockchain ประกอบด้วย 3 โครงการ ซึ่งจะนำกระทรวงการคลัง ไปสู่ Digital Platform อย่างเต็มรูปแบบ
โครงการแรก การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (VAT Refunds for Tourists) เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และธนาคารกรุงไทย ในการนำระบบบล็อกเชน มาใช้ในการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว ผ่าน Mobile Application
โดยในระยะที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยว ที่มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ยอดมูลค่าการซื้อสินค้าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวขอคืนภาษี เฉลี่ย 2 แสนรายต่อเดือน จากสถิติส่วนใหญ่ จะเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุด ประมาณร้อยละ 70
และชาวจีนส่วนใหญ่ จะไม่นิยมใช้เงินสด เข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ซึ่งโลกทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ภาครัฐต้องยกระดับการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการ และต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ดังนั้นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้กับระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มความโปร่งใส มีความปลอดภัยสูง ปลอมแปลงได้ยาก และสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติการของภาครัฐ โดยช่วยลดเรื่องการตรวจเอกสาร ลดการใช้กระดาษได้สูงสุด 10 ล้านใบต่อปี ลดต้นทุนในการจัดการ ลดความหนาแน่นของคิวที่สนามบิน ลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสด และสามารถคัดแบบข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกได้ทันที
จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหล่านี้ล้วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของประเทศ การกระจายรายได้ ไปยังผู้ประกอบการรายย่อย การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งขณะนี้ โครงการได้ผ่านการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้
โครงการที่สอง ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Government Procurement : e-GP) ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ
1) e-LG การออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ ในระบบ e-GP ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน และการตรวจสอบหลักประกันของผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่น ในความปลอดภัยของหลักประกันที่นำมาใช้ โดยผู้ประกอบการสามารถขอ e-LG จากทุกธนาคาร และผ่านระบบบล็อกเชนที่พัฒนา
2) e-Credit Confirmation โดยบล็อกเชนของ e-GP มีการรวบรวมข้อมูลประวัติ ของผู้ประกอบการนิติบุคคล รวมถึงระบบ Rating ของผู้ประกอบการ ตามผลงานในการทำงานกับภาครัฐ สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ ลดระยะเวลา และภาระในการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และการยื่นเสนอราคา
โดยจากข้อมูล ปี 2562 ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 3.6 ล้านโครงการ วงเงินรวมกว่า1.4 ล้านล้านบาท ลดภาระให้ผู้ประกอบการกว่า 270,000 ราย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งช่วยผลักดันการใช้งบประมาณ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่รากหญ้าให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันการเงิน และระบบการประเมินคุณภาพ แบบบูรณาการของผู้ประกอบการ ที่ร่วมงานกับภาครัฐได้อีกด้วย โดยในเดือนธันวาคม 2562 ผู้ประกอบการ สามารถขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Credit Confirmation) ของธนาคารกรุงไทย ผ่านระบบ e–GP ได้ทันที โดยธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถให้บริการดังกล่าวได้
โครงการที่สาม การออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (DLT Scripless Bond) จะช่วยให้การออกพันธบัตรรัฐบาล การจำหน่าย รวมถึงการรับฝากหลักทรัพย์ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนทุกระดับชั้น สามารถเข้าถึงการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัว ทั้งในตลาดแรกและขยายตัวสู่ตลาดรองในอนาคต เสริมสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยระบบจองก่อนได้ก่อน (First Come First Serve) ในการจัดจำหน่าย และช่วยลดขั้นตอน ในกระบวนการต่างๆ ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ระบบบล็อกเชน ยังช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการจองซื้อพันธบัตร เพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของตนเอง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการ โดยลดระยะเวลา ในกระบวนการออกใบพันธบัตรทั้งหมด จากเดิม 15 วันเหลือไม่ถึง 2 วัน โดยรัฐบาลจะเริ่มออกพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล ผ่านระบบบล็อกเชนในช่วงเดือน พ.ค. 2563
นับเป็นก้าวแรกที่กระทรวงการคลัง นำดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน และก้าวที่สำคัญ ในการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลัง และองค์กรชั้นนำที่สำคัญของประเทศ ที่ให้เกียรติมาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีบล็อกเชน มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและประเทศชาติ เข้าสู่ Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ