Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

“ความหวาดกลัว COVID-19” ที่ขยายวงขึ้นสร้างผลกระทบต่อ “ซัพพลายเชน” ทั้งระบบ

Onlinenewstime.com : จากการศึกษาข้อมูลของ นีลเส็น ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้บริโภคทั่วโลก ต่างอยู่ในช่วงการสำรองอุปกรณ์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน ผลพวงจากความกังวลเรื่อง Coronavirus (COVID-19) ที่อาจเป็นปรากฏการณ์โรคระบาดไปทั่วโลก โดยวันนี้รายการสิ่งของที่สำรอง เริ่มขยายวงไปจากรายการฉุกเฉินพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องกระป๋อง แป้ง น้ำตาล และน้ำดื่มบรรจุขวด ไปสู่สิ่งที่ไม่จำเป็นอื่นๆ ตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา ที่อาหารเสริม ผลไม้อบแห้ง และชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลการสำรวจของ Nielsen ในประเทศหลักๆ ทั่วโลกพบมีการซื้อหาเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ในอัตราสูง ที่ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิตาลี จนเป็น “pandemic pantries” หรือการเตรียมกักตุนของใช้จำเป็นในบ้าน เพื่อรับมือเหตุการณ์โรคระบาด

จากเหตุการณ์สำรองสินค้าจำนวนมหาศาลของผู้บริโภคนี้ ทำให้มีผลกระทบแทบจะทันที ต่อระบบซัพพลายเชน ของผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก “สต็อกของเจลฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัยเกลี้ยงในทันทีแทบทุกที่ทั่วโลก”  และผู้ผลิตไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีของมาเติมอีกเมื่อไร

ในประเทศมาเลเซีย ยอดขายของเจลฆ่าเชื้อทะลุถึงเกือบ 1 ล้านริงกิต (237,176 ดอลลาร์สหรัฐ) ในสัปดาห์ที่ 26 มกราคม 2020 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ถึง 800% และในสหรัฐอเมริกา เลขาธิการกระทรวงสาธารณสุข (HHS) Alex Azar ได้ออกมากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อเมริกาอาจต้องการหน้ากากอนามัยสูงถึง 300 ล้านชิ้น ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตที่ 270 ล้านชิ้นในปัจจุบัน เพิ่มเติมการสำรวจของ Nielsen ร้านขายยาในซานฟรานซิสโกระบุว่ายอดขายหน้ากาก เมื่อสิ้นสัปดาห์วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2020 ทำสถิติเกินกว่ายอดขายทั้งปีของ 2019 แสดงให้เห็นถึงดีมานด์จำนวนมหาศาลที่กำลังส่งผลกระทบกับทั้งระบบ

ความเห็นของ HHS และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระหว่างการแถลงข่าวของ Donald Trump เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การแพร่กระจายของเชื้อจะยกระดับขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการเข้มงวด ในการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง และเหตุการณ์ที่ตามมาก็คือ การประกาศจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ยกระดับความเสี่ยงของโคโรนาไวรัส เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นประเทศอิตาลี ที่องค์การอนามัยโลกรายงานจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1,120 ราย ซึ่งจากผลสำรวจผู้บริโภคของ Nielsen พบว่ามีผู้บริโภคชาวอิตาลีเพียง 17% เท่านั้นที่กังวลเรื่องไวรัสและคิดถึงความเป็นไปได้ของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามสถิติไม่ได้บ่งชี้ว่า คนอิตาลีไม่ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ในอีกด้านผู้บริโภคถึง 94% กล่าวว่ามีการตรวจสอบข่าวล่าสุดของเรื่องไวรัส อย่างน้อยวันละครั้ง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมั่นว่า จะมีการระบาดของโรคในระดับประเทศ

สะท้อนจากความพยายามเชิงรุกของผู้บริโภค ที่จะป้องกันการระบาดด้วยการล้างมือ และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเมื่อไอหรือจาม สำหรับยอดขายสินค้าในอิตาลี สบู่ล้างมือมียอดเพิ่มขึ้น 29% และเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น 24%

นีลเส็น ระบุว่าอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออีคอมเมิร์ซ ถึงแม้ว่าจะเร็วเกินไปที่จะตรวจพบการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ กับการซื้อขายออนไลน์ในสหรัฐฯ แต่ก็มองเห็นแนวโน้มการช็อปปิ้งออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น จากการที่คนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

ในช่วงปลายปี 2019 ยอดขายออนไลน์ของผลิตภัณฑ์อาหาร CPG ในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่ารวมมากกว่า 38 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับเฉลี่ย 732 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลของผู้บริโภค เราได้เห็นว่าตัวเลขมีการทรงตัวสำหรับการเติบโตในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อีคอมเมิร์ซ อาจกำลังกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญของการซื้อ ในประเทศจีน ตัวอย่างจากผู้ค้าปลีกขนาดกลางและเล็ก กำลังใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อเก็บสำรองสินค้า ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้ใช้เป็นทางเลือกในช่วงการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว

Ryan Zhou รองประธานฝ่ายสินค้า Consumer ของ นีลเส็นกล่าวว่า “เนื่องจากพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้คนนั้น แตกต่างจากในช่วงที่เกิดโรคซาร์สอย่างมาก และรัฐบาลเริ่มควบคุมปัญหานี้ได้เร็วกว่าที่คิด เราเลยมั่นใจว่าวงจรที่จะสร้างผลกระทบกับการค้าปลีกจะสั้นลง การจัดซื้อจัดหาเดี๋ยวนี้ก็แตกต่างไปมาก และซัพพลายเออร์ออนไลน์ก็ตอบสนอง และนำเสนอให้เจ้าของร้านค้าได้อย่างรวดเร็วมาก ตัวอย่างเช่น การค้นหาสินค้า และการสั่งซื้อทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งช่วยให้ซัพพลายเออร์โต้ตอบ และปรับระบบการซัพพลายได้ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีโรคซาร์ส”

ถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องลื่นไหลและปรับตัวของผู้ค้าปลีก ซึ่งกำลังรักษาสมดุลระหว่างการจัดหาสินค้าที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผนฉุกเฉิน สำหรับการลงทุนในสินค้าควบคู่ไปกับช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น อาหารสด ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเมื่อผู้ซื้อหลีกเลี่ยงสินค้าที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่ง หรือมาจากต้นทางที่ไกลออกไป เพราะความเสี่ยงในการสัมผัสกับไวรัสในอากาส เช่นผักและผลไม้ ยิ่งไปกว่านั้นคือความท้าทายของสินค้าที่ออกจากสายการผลิตของโรงงาน ผ่านระบบการจัดจำหน่ายไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบ

ข้อสรุปของ Nielsen เกี่ยวกับผลกระทบของ coronavirus 5 หัวข้อสำคัญ

การติดตามผลกระทบของการแพร่กระจาย

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยโรค COVID-19 มากกว่า 88,900 รายทั่วโลก โดยมีมากกว่า 80,000 รายในประเทศจีน ไวรัสได้แพร่กระจายไปอย่างน้อย 65 ประเทศ โดยมีเกาหลี อิตาลี อิหร่าน และญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่มีผู้ป่วยสูงในระดับภูมิภาค ซึ่งจะสร้างผลกระทบสำหรับผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก ซึ่งต้องมีการ update ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

การดูแลสุขภาพ

เนื่องจาก coronavirus มีลักษณะการแพร่กระจายเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นความต้องการสินค้าเพื่อปกป้อง และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้านค้าในไต้หวัน จีนและญี่ปุ่น ขาดแคลนสินค้าประเภทสารฟอกขาว เจลทำความสะอาด กระดาษชำระ และแผ่นทำความสะอาด ในขณะที่ 47% ของผู้บริโภคในเวียดนามระบุว่าเปลี่ยนนิสัยการบริโภคเพื่อตอบโต้ไวรัส

นอกจากนี้ยังได้เห็นแนวโน้มที่คล้ายกันในสหรัฐอเมริกา ในช่วงสี่สัปดาห์ของเดือนกุมภาพันธ์ ยอดขายหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นถึง 319% ในแง่เม็ดเงิน และ 378% ในแง่ของจำนวน รวมไปถึงยอดเจลฆ่าเชื้อที่เพิ่มขึ้น 73%

ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ รั้งอันดับต้นที่มียอดเติบโตของการขายหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะร้านขายยาในเขตลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโกมีอัตราการเติบโตของเม็ดเงินที่ 340% และ 541% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลานี้ในปี 2562 และยอดขายหน้ากากอนามัย เพิ่มขึ้น 239% YTD

การสำรองของใช้จำเป็นในบ้าน

นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาไม่เสียเวลารอที่จะซื้อของจำเป็น เพื่อสำรองไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันทุกภูมิภาค ในเวียดนาม 45% ของผู้บริโภคที่ทำการสำรวจกล่าวว่า ได้เพิ่มปริมาณสิ่งของสำรองในบ้านและ 25% กำลังซื้อของออนไลน์มากขึ้น และในไต้หวัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นสิ่งหายากในทุกหน้าร้าน ซึ่งสหรัฐอเมริกาอาจจะประสบกับแนวโน้มที่คล้ายกันในเร็ว ๆ นี้

ตีโจทย์การผลิตให้ได้

ในขณะที่ผู้บริโภค ประเมินการซื้อด้วยปัจจัยการเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน จึงมีข้อน่าสังเกตว่า พฤติกรรมการซื้ออาจจะเปลี่ยนไปสู่ตัวเลือก ของสินค้าที่มีอายุยาวนาน และสินค้าแช่แข็ง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา รวบรวมยอดขายเฉลี่ยรายสัปดาห์ไว้ที่ 1.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในทางตรงข้าม อาหารแช่แข็งและสินค้าที่มีอายุยาว สามารถมาช่วยเติมเต็มช่องว่างบนชั้นของสินค้าได้อย่างดี เห็นได้จากยอดขายผลไม้แช่แข็งที่เพิ่มขึ้น 7% ในสัปดาห์ที่ 22 กุมภาพันธ์

คิดนอกกรอบ

ในระยะสั้นจะไม่น่าแปลกใจที่ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก กำลังจับตาดูผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงน้ำยาฆ่าเชื้อ วิตามิน และหน้ากากอนามัย ซึ่งมีความต้องการสูงอย่างมาก อย่างไรก็ดีการขยายผลจากความกังวลเรื่อง coronavirus จะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเช่นกัน

ในสหรัฐอเมริกา ยอดขายของสเปรย์ฆ่าเชื้อเพิ่มขึ้น 19% ในขณะที่ยอดขายเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นเกือบ 3% ซึ่งในระยะยาวเราคาดว่า สินค้าประเภทแฮนด์ครีม และโลชั่นน่าจะเติบโตไปในทำนองเดียวกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าการเน้นล้างมือและฆ่าเชื้อโรคจะส่งผลเสียต่อผิว

นอกจากนี้ยังมีหมวดหมู่ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จากการสำรวจของ นีลเส็น กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลทำความสะอาด มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น แผ่นทำความสะอาด และอาหารสำหรับเด็กหรือทารก

Source

Exit mobile version