Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดงาน ‘100,000 ไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ’ ประกาศความสำเร็จ หลังผลักดันไม้ยืนต้นทุกชนิดนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ทำให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น พร้อมเร่งส่งเสริม ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง สร้างหลักประกันให้กับครอบครัว และความมั่นคงในอนาคต
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันรัฐบาล ได้แก้ไขกฎหมาย โดยยกเลิกไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การปลูก การตัดไม้เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ง่าย ประชาชนสามารถปลูก และตัดไม้เศรษฐกิจได้เ หมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป”
“การส่งเสริมสนับสนุน ให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้น บนที่ดินของตนเอง โดยสามารถนำไม้ยืนต้นนั้น มาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นการช่วยให้เกษตรกรและประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
เพื่อนำไปต่อยอดทำการเกษตร หรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ สนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก ให้มีการปลูก การจัดการ การตัด การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งออก ไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐาน ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ”
“กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บูรณาการความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการขับเคลื่อนการใช้ไม้ยืนต้น เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี พิษณุโลก และอ่างทอง
โดยมีการนำร่อง มอบวงเงินจดทะเบียนไม้ยืนต้น เป็นหลักประกันทางธุรกิจให้แก่เกษตรกรทั้ง 4 จังหวัดข้างต้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน ปลูกไม้ค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นไม้ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่า หรือแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
โดยให้ประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ปลูก เป็นการลงทุน ที่มีความเสี่ยงน้อยและนำไปสู่การสร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างความยั่งยืนด้านระบบนิเวศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสามารถนำไม้ยืนต้น มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้”
“การจัดงาน ‘100,000 ไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ’ เป็นการประกาศความสำเร็จ หลังสามารถผลักดันให้ไม้ยืนต้น เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร และประชาชนปลูกต้นไม้บนที่ดินของตนเอง และชุมชน เพื่อเป็นทรัพย์สิน เป็นมรดกให้ลูกหลาน
สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ มีความมั่งคงในอาชีพ รวมถึงการนำไม้มีค่า ไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และนำมาเป็นหลักประกันทรัพย์สิน สำหรับขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ
อีกทั้งเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน เพิ่มพื้นที่ป่ารั กษาระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล และลดภาวะโลกร้อน”
“โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินแห่งแรก ที่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน ถือเป็นการนำร่อง ให้ธนาคารพาณิชย์อื่น นำไปเป็นแบบอย่าง ที่จะช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไม้รายอื่นๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ คาดว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ จะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ จำนวน 100 ล้านต้น”
“นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือ จากหน่วยงานพันธมิตร ที่ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นและการปลูกป่ามาร่วมเสวนา หัวข้อ “ปลูกไม้ยืนต้น สร้างมูลค่าไม้เศรษฐกิจไทย” ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO)
ตัวแทนเกษตรกร และมีหน่วยงาน ที่ร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้ภายในงาน เช่น กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”
“การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเ ป็นแนวทางสำคัญที่มีการพูดถึง ทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร พร้อมๆ กับการเพิ่มความยั่งยืน ให้กับทรัพยากร และระบบนิเวศของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสินทรัพย์ และความเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจฯ ที่ต้องการให้เกษตรกร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ง่ายสะดวกมากขึ้น” รมช.พณ. กล่าวสรุป
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้น มาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 111,365 ต้น มูลค่ารวมกว่า 132,169,000 ล้านบาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4944 สายด่วน 1570 เว็บไซต์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ