Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

จับมือ 56 สถาบันอุดมศึกษา ดันชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

Onlinenewstime.com : ธนาคารออมสิน เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2562 ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ และบริการของชุมชนให้มีศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการตลาด

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดโครงการความร่วมมือ ระหว่างธนาคารออมสิน กับสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน พร้อมมอบนโยบาย ขับเคลื่อนการทำงานพลังนักศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ภายใต้ “โครงการอาสาประชารัฐ” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา

โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา 56 แห่ง 411 องค์กรชุมชน และหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกองทุนการออมแห่งชาติ เข้าร่วมงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมถอดบทเรียนการดำเนินงานของปี 2562 การนำเสนองานวิจัยเชิงลึก และขับเคลื่อนการดำเนินงาน ร่วมกันในปี 2563

นางพัชลีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการส่งมอบงานกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2562 ภายใต้โครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น”

โดยธนาคารออมสิน ร่วมกับมหาวิทยาลัย นำนักศึกษาที่มีไอเดียและวิทยาการสมัยใหม่ เข้าไปช่วยคนในชุมชนปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เกิดความแปลกใหม่ ทั้งรสชาติ คุณภาพ แพ็กเกจให้ทันสมัย

เพื่อส่งเสริมศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถ ในการประกอบอาชีพของกลุ่มองค์กรชุมชน ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ การทำงานร่วมกันให้กับเยาวชน ซึ่งจะก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ระหว่างกลุ่มองค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา และธนาคารออมสิน  

สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 มีสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมโครงการ 56 แห่งทั่วประเทศ นักศึกษา 3,920 คน กลุ่มองค์กรชุมชน 411 กลุ่ม มีสมาชิกและผู้รับประโยชน์ 2,800 ครัวเรือน กว่า 10,000 คน

ได้พัฒนาศักยภาพด้านการตลาด การผลิต การบัญชี และช่องทางการจัดจำหน่าย จนทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักศึกษา เห็นคุณค่าของทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถฝึกทักษะ การเป็นผู้ประกอบการ และมีโอกาสพัฒนาเป็นอาชีพ เพื่อมีรายได้เลี้ยงตนเองต่อไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ แก่นักศึกษาและกลุ่มองค์กรชุมชน ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ จึงได้มอบรางวัล Best of the Best ให้กับนักศึกษาที่ มีผลงานยอดเยี่ยม จำนวน 6 ทีม แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ประเภท กินดี จาก วิสาหกิจชุมชนฉัตรหลวง (ข้าวแต๋นแบบแท่ง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อยู่ดี จาก ว.ทวีฟาร์ม (ฟาร์มสเตย์หมูออร์แกนิคหนองโน Agro Life) มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สวยดี จาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรสร้างสรรค์ (เซรั่มเห็ด 3 ชนิด) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ดูดี จาก วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ทำมือบ้านจงเจริญ (ผ้าปักมือ Hug Village) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, รักษ์ดี จาก กลุ่มตีเหล็กบ้านใหม่ (มีดไทยโบราณ) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และ คิดดี จาก วิสาหกิจชุมชนบ้านคลองไทร (ผักเคล ready to eat) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

และยัวได้มอบรางวัล The Best ให้แก่ทีมนักศึกษา และกลุ่มองค์กรชุมชนอีกจำนวน 50 ทีมด้วย นอกจากนี้ ภายในงานสถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมกับองค์กรชุมชน นำผลิตภัณฑ์/บริการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน มาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมกับบูธนิทรรศการของธนาคารออมสิน  

นางพัชลีพร กล่าวว่า “ผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว สามารถเสริมสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่กลุ่มองค์กรชุมชน โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการดำเนินโครงการ ชุมชนมีค่าใช้จ่ายลดลง รายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายสินค้าและบริการถึง 300%

มีช่องทางการตลาดออนไลน์ และออฟไลน์มากขึ้น มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังได้รู้จักวิธีการจดบันทึกบัญชีรายได้ รายจ่าย อย่างเป็นระบบ และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคาร ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยส่งผลต่ อความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 56 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

โดยให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านกลไก 3 สร้าง คือ สร้างความรู้/อาชีพ เพื่อฝึกอบรมอาชีพ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน

สร้างตลาด/รายได้ เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษา สร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ผ่านโครงการ GSB Startup Academy และ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

โดยให้นักศึกษา เข้าร่วมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มโอทอป ด้วยการนำความรู้สมัยใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างรายได้ และอาชีพให้แก่สมาชิกในชุมชน

Exit mobile version