fbpx
News update

จุดเปลี่ยนโลจิสติกส์ จากตลาดอีคอมเมิร์ซโต !

คาด 5 ปีขนส่งโลจิสติกส์งานแน่นรับตลาดอีคอมเมิร์ซโต แนะผู้ใช้บริการขนส่งงดสินค้าใช้ชื่อไม่เป็นทางการ “หนูเองนะคะแม่”, “ชั้นเองนะจำได้ไหม”เพื่อให้ถึงมือผู้รับรวดเร็ว ด้านกูรูแนะผู้ประกอบการรายใหม่สร้างจุดแข็งเนื้อหาต้องโดน รีวิวสินค้าจากประสบการณ์ตรง อัพข้อมูลกระจายขายหลายช่องทาง

ทั้งนี้กูรูด้านการขนส่งรายใหญ่ของไทย ได้ให้แง่คิดด้านการขนส่งสินค้าต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านการสัมมนาในหัวข้อ “Last Mile Delivery: โลจิสติกส์ คือกุญแจสำคัญของการทำอีคอมเมิร์ซไทย” ที่จัดขึ้นภายในงาน e-Biz Expo Asia 2017 ครั้งที่ 3 งานแสดงเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซและพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ครบวงจร

นายพิษณุ วานิชผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวถึงการเติบโตของปริมาณงานขนส่งที่เพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้ปริมาณงานมีการกระจายตัวออกไปสู่ภูมิภาคสูงขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ และยังมีมูลค่าการสั่งซื้อสูงขึ้นด้วย

เมื่อดูจากข้อมูลการให้บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ cash on delivery (COD) ซึ่งการเข้ามาให้บริการ Last Mile Delivery ในเมืองใหญ่ที่หลากหลายมากขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองไทย

ทั้งนี้ ยังพบการเปลี่ยนแปลงในการทำ cross border ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ปริมาณงานที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดนี้อาจส่งผลต่อการให้บริการในอนาคต เช่นในกรณีของญี่ปุ่น ที่ผู้ให้บริการหลายราย ต้องรวมตัวกันเพื่อส่งของให้ลูกค้า ซึ่งคาดว่าระบบขนส่งไทยอาจจะเจอปัญหาเรื่องของปริมาณงานขนส่งใน อีก 5 ปี

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป เคอรี่ เอ็กซ์เพรส(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งให้บริการขนส่งในประเทศ ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำหรับการขนส่งของลูกค้ากลุ่ม C2C ที่ใช้บริการ COD จากเดิมมีมูลค่า 500 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปีนี้สูงถึง 1000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งโตเร็วมาก โดยการส่งที่โตขึ้นแบ่งเป็นสัดส่วน กทม 30% ต่างจังหวัด 70 % เนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซในต่างจังหวัดยังขยายฐานได้อีก

นอกจากนี้ ระบบการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้าในต่างจังหวัดสูงขึ้นด้วย

ขณะที่ นางสาวปุญญามาลย์ สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดคู่ค้าทางกลยุทธ์ด้านดิจิทัล บริษัทNiko’s Group ยอมรับว่ากระแสของโลจิสติกส์มาแรงมาก มีเอกชนรายใหม่ๆเข้ามาสู่ตลาด และยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยเฉพาะการให้บริการที่มาแรงควบคู่กัน คือ COD เพราะคนอยากเห็นสินค้าก่อนจ่ายเงินทีหลัง จึงเกิดการต่อยอดระบบการจ่ายเงินโดยวิธีรูดบัตรหน้างาน และรวมถึงการจ่ายเงินผ่านระบบ เช่น ไลน์เพย์ และไม่เพียงตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นทะลุกว่า 2.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีลูกค้ากลุ่ม social commerce ที่ต้องจับตามอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ให้บริการด้านการขนส่งมองว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ คือ ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องขนส่ง เนื่องจากที่ผ่านมาบ่อยครั้งต้องเจอกับการแพ็คสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การหีบห่อที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานของการขนส่ง เพราะการส่งของแม้จะใส่กล่องอย่างดี แต่ถ้าไม่ห่อให้เรียบร้อยก็อาจทำให้สินค้าได้รับความเสียหายได้

รวมถึงการจ่าหน้าซอง ชื่อที่อยู่ผู้ส่ง ที่บ่อยครั้งมีการใช้ชื่อที่ไม่เป็นทางการ เช่น “หนูเองนะคะแม่”, “ชั้นเองนะจำได้ไหม”, รวมถึงการใช้กล่องเดิมซ้ำๆ ดังนั้น ผู้ใช้บริการขนส่งอาจต้องเลือกการขนส่งที่เหมาะกับสินค้า และการแพ็คสินค้าของตัวเองด้วย เพราะการส่งแบบ the last mile เป็นการขนส่งสินค้าพร้อมกันจำนวนหลายชิ้น

ขณะที่ การสัมมนา ในหัวข้อ “มันต้องสู้ ปลาเล็กกินปลาใหญ่ – SMEs จะแข่งกับ e Commerce รายใหญ่ยังไง?”โดยนายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ผู้ก้อตั้ง Priceza ได้แนะผู้ประกอบการรายใหม่ต้องหา 5c หลักให้ธุรกิจของตัวเองเพื่อกระโดดเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ดังนี้

  • C แรก คือ Core Focus ต้องหาจุดแข็งของตัวเอง ว่า มีความเชี่ยวชาญหรือ มีความรู้มากในด้านใด และคิดว่าทำสิ่งนั้นได้ดีกว่า ที่สำคัญคือ ต้อง รักที่จะทำสิ่งนั้น เพราะต้องพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่เข้ามาทุกวัน

  • Content Marketing เนื้อหาต้องโดน เนื่องจากการขายออนไลน์ ไม่มีพริตตี้ ไม่มีเซลคอยเชียร์สินค้าหน้าร้าน จึงต้องทำเนื้อหาให้โดนใจ ข้อมูลสินค้าต้องแตกต่าง มีการทำรีวิวสินค้าด้วย VDO รีวิวสินค้าโดยผู้ใช้จริง อธิบายสินค้าด้วยประสบการณ์ตรง และใช้พื้นที่ให้ความรู้ อัพเดทข่าวสาร

  • Community Building การสร้างเผ่าของตัวเอง คือการหาวิธีดึงดูดให้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกันมารวมตัวกันในพื้นที่ของคุณ

  • Channels การกระจายขายในหลายช่องทาง โดยการสร้างเว็บสินค้าของตัวเอง หรือการสร้าง ไอจี เฟซบุ๊ก และไลน์ รวมถึงกระจายไปยัง e Market Place และ Online Retailer

  • ส่วน c สุดท้าย คือ CRM การบริหารฐานลูกค้า คือการหาวิธีให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าซ้ำ ดังนั้นต้องรู้จักลูกค้า และหาช่องทางติดต่อกับลูกค้า เพื่อทำให้สามารถต่อยอดไปได้