onlinenewstime.com : สำหรับคนชอบอ่าน หรือหนอนหนังสือ นักอ่าน ที่เคยมีประสบการณ์ดีๆในอดีต กับบรรยากาศและกลิ่นอาย การอ่านหนังสือแบบออฟไลน์ ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
ท่ามกลางรอยต่อของเวลาจากยุคออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ วันนี้หอสมุดแห่งชาติ เปิดให้บริการอ่านหนังสือแบบออนไลน์แล้ว เรียกได้ว่า มีระบบ Digital Library ที่สะดวกสบาย สอดคล้องกับสถานการณ์ ยุคสังคมก้มหน้าในปัจจุบัน ที่แต่ละวัน ผู้คนใช้เวลาไปกับการจ้องหน้าจอโทรศัพท์
เพราะหากเราไม่มีเวลาจะเดินทางไปที่นั่น ก็สามารถเลือกหาหยิบหนังสือที่ถูกใจมาอ่านได้จากห้องสมุดดิจิทัลใน 4 ช่องทางด้วยกัน คือ การอ่านผ่าน 2 แอพพลิเคชั่น (Application) และ 2 เวบไซต์ ส่วนในรายละเอียดนั้นจะแบ่งเป็น
- E-book หรือบริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการอ่านหนังสือฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง โดยต้องเริ่มจากขั้นตอนการโหลดแอพพลิเคชั่น ตามลิงค์ http://www.2ebook.com/new/library/index/nlt (รองรับทั้งระบบ iOS และ Android) เพื่อสมัครเป็นสมาชิก E-book ก่อน จากนั้นก็สามารถหยิบหนังสือที่ถูกใจมาอ่านได้ทันที หรือจะโหลดเพื่อยืมไปอ่านก็ได้ โดยมีกำหนดยืม “ครั้งละไม่เกิน 3 เล่ม ยืมได้สูงสุด 3 วัน”
- D-LIBRARY เป็นเวบไซต์ฐานข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติ เกี่ยวกับกลุ่มเอกสารโบราณ เอกสารหายาก อย่างเช่น สมุดไทยดำ หรือ หนังสือเก่าที่หาไม่ได้โดยทั่วไป สามารถเข้าไปคลิกเพื่ออ่าน หรือดาวน์โหลดเป็นพีดีเอฟ เปิดอ่านได้ทุกที่
- PressReader เป็นบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารออนไลน์ ของหอสมุดแห่งชาติ ผ่านแอพพลิเคชั่น โดยขั้นตอนการใช้งานหลังจากการดาวน์โหลดแอพฯแล้ว จะสามารถอ่าน ข้อมูลข่าวสารของหนังสือพิมพ์ และนิตยสารตั้งแต่ฉบับปัจจุบัน และฉบับย้อนหลัง 90 วัน ซึ่งมีกว่า 7,000 รายชื่อ จาก 100 ประเทศ และ 60 ภาษาทั่วโลก ผ่านเว็บหรือแอพฯ ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในหอสมุด ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อเราอยู่ในพื้นที่เครือข่ายจุดฮอตสปอร์ต PressReader จะสามารถโหลดหนังสือจากหอสมุดแห่งชาติมาอ่านได้ทั้งเล่ม
- Primo เป็นระบบสืบค้นทรัพยากร ที่เรียกว่าเป็นการค้นหาฐานข้อมูลแบบครบวงจร ทั้งการค้นหาหนังสือ บทความทางวารสาร และสื่อดิจิตอล เอกสารทั้งหมด ทั้งที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ และนอกหอสมุดแห่งชาติ หากเราต้องการจะหาข้อมูลเรื่องใดก็ตาม ระบบจะดึงฐานข้อมูลที่มีในทุกประเภทเข้ามา เพื่อแสดงให้เป็นแหล่งของข้อมูลที่ต้องการสืบค้น ใช้งานโดยวิธีการเข้าเวบไซต์หอสมุดแห่งชาติหน้าแรก คลิกที่การค้นหา จากนั้นจะเชื่อมต่อไปที่หน้าเวบไซต์ Primo ได้เลย http://www.search.nlt.go.th:1701/primo_library/libweb/action/search.do#
ในด้านคุณสมบัติและบริการต่างๆของ Digital Library หอสมุดแห่งชาติ นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ชำนาญการ อธิบายเพิ่มเติมกับ ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ว่า “PressReader ให้บริการเป็นภาษาต่างประเทศ
ส่วนขั้นตอนการใช้งานนั้น ยกตัวอย่างว่าเราสมัครสมาชิก และมีการดาวน์โหลดหนังสือพิมพ์ และนิตยสารออนไลน์ในวันนี้ เราสามารถนำไปอ่านต่อในพื้นที่เครือข่ายจุดฮอตสปอร์ต ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตภายในหอสมุดได้อีก 24 ชั่วโมง
ส่วน Ebook ที่มีให้อ่านปัจจุบันนั้น มีการอัพโหลดขึ้นไปแล้วกว่า 700 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือลิขสิทธ์ของกรมศิลปากร ซึ่งไม่ติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ แต่ก็มีบางเล่มที่เป็นของสำนักพิมพ์ ที่ยังคงติดเรื่องลิขสิทธิ์อยู่” (ชนิดหนังสือหายาก (40) หนังสือลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์ (262) หนังสือเผยแพร่ฟรี (408) )
อีกเรื่องที่ปรับ คือ การค้นหาหนังสือ จากในอดีตผู้อ่านต้องค้นคว้าหาชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่งเองจากตู้ดัชนีห้องสมุด แต่วันนี้เมื่อเดินเข้ามาที่ชั้น 1 ของหอสมุดแห่งชาติ จะมีตู้คีย์ออส วางอยู่ข้างหน้า ซึ่งตรงนี้เราสามารถสอบถามบรรณารักษ์จากจุดนั้นได้เลย โดยผ่านวิดิโอคอล ส่วนนี้เริ่มให้บริการแล้ว
“เมื่อสอบถามจากชั้น 1 ขึ้นมาที่ห้องหนังสือ จะสอบถามว่าเล่มนี้อยู่ที่นี่หรือไม่ เพราะเราไม่ต้องการให้ผู้ใช้บริการ เสียเวลา และสามารถขอคำแนะนำอื่นๆได้อีกด้วย”
นอกจากนี้ เรายังเปิดให้ผู้ใช้บริการที่หอสมุดแห่งชาติ สมัครสมาชิก (ไม่มีค่าธรรมเนียม) โดยขั้นตอนการสมัครนั้น ให้นำบัตรประจำตัวประชาชน /พาสปอร์ต เมื่อสมัครแล้วจะได้รับสิทธิ 1. ใช้บริการ FreeWiFi โดยแจ้งใช้ WiFi กับเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์เพื่อรับรหัส ซึ่งสามารถใช้งานได้ครั้งละ 2 ชั่วโมง และ 2. สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นขอรับบริการได้ที่ห้องบริการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ชั้น 1 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกบริการ
เพราะวิถีของการเรียนรู้ ไม่มีข้อจำกัด นักอ่านและผู้สนใจต้องมาลองประสบการณ์ใหม่จากหอสมุดแห่งชาติ แล้วจะพบว่ามีเรื่องให้ศึกษาและเพลิดเพลินได้อย่างไม่รู้จบ