fbpx
News update

ซีพีเอฟ เดินหน้าพลังงานหมุนเวียน รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมสร้างธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

Onlinenewstime.com : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบทั้งโรงงานและฟาร์มปศุสัตว์ ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วกว่า 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2563 พร้อมใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน 

นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดี ถึงการมีส่วนร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

จึงมีการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมรอบด้าน โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วางแผนระบบโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร

ตลอดจนการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ และดำเนินโครงการปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าชายเลน  สนับสนุนเป้าหมายของบริษัทฯลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมลง 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558

การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของซีพีเอฟเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมในรูปแบบต่างๆ อาทิ พลังงานชีวมวล (Bio Mass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm)

โดยในปี 2563 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการเลือกประเภทของพลังงานหมุนเวียน ให้เหมาะสมกับธุรกิจและสถานที่ เช่น พลังงานชีวมวล ในโรงงานอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ นำวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด เป็นต้น มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในหม้อไอน้ำ

ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการใช้พลังงานชีวมวลทั้งหมด 1.77 ล้านกิกะจูล และตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในปี 2565 ส่วนการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และน้ำเสียนำไปบำบัดจนได้ก๊าซชีวภาพ นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และนำกลับไปใช้ในสถานประกอบการ มีการดำเนินการในฟาร์มสุกรทั้งหมดของบริษัทฯ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้ง 7 แห่ง และโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปหนองจอก

ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร (คอนแทรคฟาร์มมิ่ง) 96% ดำเนินการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ขยายผลไปใช้กับกิจการในประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ โรงงานอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่โคราช นำก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในหม้อไอน้ำ (Steam Boiler) โดยในปี 2563 ซีพีเอฟ มีการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพรวม 1.04 ล้านกิกะจูล

ซีพีเอฟยังดำเนินโครงการโซล่าร์รูฟท็อป เพื่อติดตั้งแผงโซล่าร์ พีวี (Solar PV) 26 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารแปรรูป โรงงานอาหารสำเร็จรูปและศูนย์กระจายสินค้า โดยมีกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2563 จำนวน 15 เมกะวัตต์ ขณะที่บริษัทมีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์รวม 0.02 ล้านกิกะจูล 

“นอกจากซีพีเอฟ มีพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนธุรกิจ ให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลธรรมชาติ เดินหน้าตามเป้าหมายธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน” นายจารุบุตร กล่าว

นโยบายการใช้พลังงานหมุนเวียนของซีพีเอฟ ยังตอบสนองต่อกระแสความต้องการของคู่ค้าและผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิต ที่มีส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว 

นายจารุบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านอื่นๆ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งอาหารสุกรและอาหารไก่ไข่  ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 72,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2563

การวางแผนระบบโลจิสติกส์ จากการคัดเลือกที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้า ให้อยู่ระหว่างโรงงานผลิตและที่ตั้งของลูกค้าในระยะทางที่เหมาะสมต่อการขนส่ง นำระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่รถขนส่งสินค้าในแต่ละคันให้ได้มากที่สุด รวมถึง ลดการสูญเสียอาหาร ขยะส่วนเกิน และขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางการผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตอาหาร เป็นต้น

ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)  พร้อมเดินหน้านำนวัตกรรมการผลิตและเทคโนโลยีมาใช้  พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน