fbpx
News update

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.63 ต่ำสุดในรอบ 21 ปี กังวล COVID19 – งบประมาณ- ภัยแล้ง -การเมือง

Onlinenewstime.com : ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด COVID19 งบประมาณที่ล่าช้า ภัยแล้ง ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างมากในอนาคต

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.2 61.4 และ 80.4 ตามลำดับ

โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 54.9 63.8 และ 83.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวลดลง ของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 251 เดือนหรือ 20 ปี 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2542 เป็นต้นมา ลดลงจากระดับ 67.3 เป็น 64.8

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภค ยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของCOVID19 อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมาก ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และกำลังซื้อภายในประเทศ

นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป และปัญหาภัยแล้ง อาจเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในอนาคต ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการ ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคต ยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 จากระดับ 45.0 ในเดือนมกราคม 2563 มาอยู่ที่ระดับ 42.7 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 243 เดือนหรือ 19 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2543 เป็นต้นมา แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 76.8 มาอยู่ที่ระดับ 74.3 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

และเริ่มปรับตัวอยู่ห่างจากระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคเริ่มขาดความมั่นใจมากขึ้นเป็นลำดับ ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต และหากมีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยเข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าปัจจุบันจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคปรับตัวลดลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID19 ปัญหางบประมาณล่าช้า ปัญหาภัยแล้ง และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง อีกทั้งผู้บริโภค ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง