Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup” ไตรมาส 3 ปี 2562

Onlinenewstime.com : ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI)  ประจำไตรมาส 3 ปี 2562 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ Startup ทั่วประเทศจำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี SSI ประจำไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 51.85 สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ Startup ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม”

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ในไตรมาส 3 มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งต่างประเทศและในประเทศ และถูกซ้ำเติม ด้วยภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้ง พายุฝนและวิกฤตน้ำท่วม

โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 45.77 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยลบ จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้ง และอุทกภัย ในหลายพื้นที่

ส่งผลให้การคมนาคมขนส่ง กิจกรรมทางการค้าและธุรกิจชะลอตัวลง รวมถึงยังได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถปรับราคาขายสินค้ าและบริการให้สูงขึ้นได้ ในขณะที่ต้นทุนผลิตภัณฑ์/สินค้าที่นำมาจำหน่าย ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำไรจากการประกอบการลดลง

สำหรับ ดัชนี SSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ Startup ส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะธุรกิจในภาพรวม มีโอกาสดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 65.93

เนื่องจากในไตรมาส 4 เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว (High season) ที่มีเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง และมีวันหยุดต่อเนื่องหลายช่วง จะทำให้กิจกรรมทางการค้าและธุรกิจคึกคักขึ้น รวมถึงมีคำสั่งซื้อ และยอดสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น

อีกทั้งผู้ประกอบการ ยังคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการชิม ช้อป ใช้ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลเชิงบวกชัดเจนในไตรมาสที่ 4 จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการ มีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 4 ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย และลดการใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นลง รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจ ที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอน ต่อยอดขายสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในปี 2562 ซึ่งอาจส่งผล ให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์

เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและบริการ ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม (สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50)

โดยดัชนี SSI ในภาคการเกษตรอยู่ที่ระดับ 56.92 สูงที่สุดในทุกภาคธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีการใช้เทคโนโลยี และมีรูปแบบการจัดการฟาร์ม อย่างเป็นระบบครบวงจรสามารถรักษามาตรฐานคุณภาพผลผลิตได้แม้สภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงบางรายมีการประกันราคา กับบริษัทคู่สัญญา

ขณะที่ดัชนีภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 53.57 และ 50.17 ตามลำดับ แต่พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้า ต่อสถานการณ์ทางธุรกิจลดลง(ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50)มาอยู่ที่ 45.77 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ธนาคารมีการจัดทำดัชนีนี้ขึ้นมา

โดยผู้ประกอบการ Startup ในทุกภาคธุรกิจ ยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวัง และลดการจับจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ปัญหาภัยธรรมชาติ ที่ทำให้ผลผลิตการเกษตรและราคาวัตถุดิบ มีความไม่แน่นอนสูง การแข่งขันทางธุรกิจ จากคู่แข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ เช่น โปรแกรมเมอร์ และขาดเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่า ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือปัจจัยทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ Startup ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ ในการผลิตสินค้าและบริการ ค่าจ้างแรงงานที่มีฝีมือ ค่าฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด รวมถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ Startup ยังคงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านเงินทุน       ทั้งระยะยาว และระยะสั้น โดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่น ช่วยสนับสนุนด้านการตลาด การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางสื่อต่างๆ และการออกบูธแสดงสินค้า ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนวทางการขยาย/ต่อยอดธุรกิจ หรือช่วยเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อธุรกิจประสบปัญหา เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง

รวมทั้งการอบรมเพิ่มความรู้ด้านการค้าในยุค Digital ความรู้ด้านการลงทุน การขยายธุรกิจ การส่งออก ภาษี ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

Exit mobile version