fbpx
News update

ดันเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น พร้อมแจงรายละเอียด ‘คาร์บอนเครดิต’ แหล่งซื้อขายออกซิเจนในอนาคต

Onlinenewstime.com : กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ จ.อ่างทอง กระตุ้นเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเอง ใช้เป็นหลักประกัน การขอสินเชื่อจากสถาบันเงินยามจำเป็น พร้อมแจง โลกต้องการแหล่งออกซิเจนมากขึ้น เตรียมซื้อขายกันในอนาคต โดยอาศัยผืนป่า เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นางสาวปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “วันนี้ (1 กันยายน 2563) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่บ้านคลองคต หมู่ 2. ต.หลักแก้ว อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจ ให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่า บนที่ดินของตนเองมากขึ้น พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดิน อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ซึ่งการปลูกไม้ยืนต้น นำมาซึ่งประโยชน์หลายด้าน เช่น เป็นการเพิ่มมูลค่าต้นไม้ เพิ่มแหล่งออกซิเจนให้พื้นที่ป่าและประเทศ เป็นการออมและสร้างรายได้ในอนาคต เป็นมรดกให้ลูกหลาน และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ”       

“การลงพื้นที่ฯ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ต่อจาก จ.สุพรรณบุรี อุทัยธานี และพิษณุโลก โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับตัวแทนเกษตรกร และผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเอง และรายละเอียดการนำไม้ยืนต้นนั้น มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

รวมทั้ง ได้มีการสาธิตการตรวจวัด และประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรในพื้นที่ตามหลักมาตรฐานสากล และในโอกาสนี้ ได้มอบวุฒิบัตร แก่ผู้ผ่านการอบรมการตรวจวัดและประเมินมูลค่าต้นไม้ จำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ และเป็นสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ การมีคนในพื้นที่สามารถตรวจวัดและประเมินมูลค่าต้นไม้ได้ ตามหลักวิชาการ จะเป็นแรงกระตุ้น ให้เกิดการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองมากขึ้น เนื่องจากมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ ถึงประเภทต้นไม้ และประโยชน์ที่จะได้รับ จากการปลูกไม้ยืนต้น”

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากนั้น กรมฯ ได้ให้คำแนะนำการพัฒนา และเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น โดยให้นำไม้ที่มีอยู่อย่างมากมายในพื้นที่ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ของใช้ในครัวเรือน ของที่ระลึก และของตกแต่งบ้าน ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้เสริม และเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นหลัก พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้มีความทันสมัยสวยงามดึงดูดใจลูกค้า รวมทั้ง ขยายช่องทางการตลาดผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่

ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ มาช่วยพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าและอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลังจากที่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว กรมฯ จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ผู้แทนจำหน่าย ซัพพลายเออร์ มาคัดสรร เพื่อขึ้นจำหน่ายบนสนามบิน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ฯลฯ เป็นการขยายช่องทางการตลาด ให้มีความหลากหลาย เพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น”

นายอดิเรก วงษ์คงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงว่า “ประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่ม ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ที่อาศัยผืนป่า เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่

เนื่องจากปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น อุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว น้ำท่วม ดินถล่ม แห้งแล้ง และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

ดังนั้น ธ.ก.ส. และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงต้องการส่งเสริม และผลักดันให้เกษตรกรและประชาชน ปลูกไม้ยืนต้น เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ป่า และให้เป็นแหล่ง ‘คาร์บอนเครดิต’ ของโลก เพื่อการซื้อขายในอนาคต

โดย คาร์บอนเครดิต เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ที่สามารถตีราคาเป็นเงิน และสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่า ‘ตลาดคาร์บอน’ โดยในอนาคต คาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญ และมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซต์) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม”

รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมฯ และ ธ.ก.ส. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างแหล่งออกซิเจนขนาดใหญ่ให้กับประเทศ

โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 109,007 ต้น มูลค่ารวม 132,014,509.02 บาท

เกษตรกรที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ”