Onlinenewstime.com : ดีอีเอส สรุป 3 รูปแบบกลโกงออนไลน์ยอดนิยม จับตาปัญหาซื้อขายออนไลน์ผ่าน TikTok แนวโน้มขยับขึ้นตามกระแสนิยมโฆษณาบน TikTok ล่าสุดเปิดรับแจ้งเบาะแสแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวงผ่าน 1212 OCC
พันตำรวจเอก ดร.อัครพล บุณโยปัยฎัมภ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการป้องกันและจัดการปัญหา และข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางออนไลน์ ครั้งที่ 4/2565 วันนี้ (19 ก.ค.65) ได้มีการรายงานสรุปสถานการณ์รูปแบบกลโกงทางออนไลน์ในปัจจุบันเกี่ยวกับการซื้อขายทางออนไลน์ พบหลักๆ 3 รูปแบบ ได้แก่
1.สร้างเพจปลอมที่เหมือนกับหน้าเพจร้านค้าจริง
2.การหลอกลวงผ่านช่องทาง TikTok ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การโฆษณาขายสินค้าผ่าน TikTok ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
3.ไลน์ปลอมระบาด ซึ่งมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ หลอกยืมเงิน หลอกขายของ หลอกลงทุน เป็นต้น
ขณะที่ ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 ทางศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือสายด่วน 1212 OCC ได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 31,809 เรื่อง โดยมีสถิติการไกล่เกลี่ยสำเร็จไปแล้ว 6,325 เรื่อง
โดยการแจ้งเรื่องร้องเรียน อันดับหนึ่ง คือ ปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ 22,840 เรื่อง แบ่งตามประเภทปัญหา ดังนี้
ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) 51.1%
ได้รับสินค้าไม่ตรงปก 33.7%
ปรึกษาด้านการซื้อขายออนไลน์ 10.9%
พันตำรวจเอก ดร.อัครพล กล่าวว่า ด้านการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในความร่วมมือด้านปัญหาซื้อขายออนไลน์ ระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงาน 3 อันดับแรก ดังนี้
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) 54%
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มรองผู้บริโภค (สคบ.) 19%
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ให้คำปรึกษา แนะนำข้อมูลเบื้องต้น 23%
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.65 ได้มีการเปิดบริการให้แจ้ง SMS หลอกลวง และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่าน 1212 OCC ล่าสุดมีแจ้งเข้ามา 127 เรื่อง พบหัวข้อยอดนิยมที่มิจฉาชีพแอบอ้าง ได้แก่ พัสดุค้างอยู่ในด่านศุลกากร พัวพันในคดี เช่น ฟอกเงิน ค่าปรับจราจร แอบอ้างโทรจากหน่วยงานรัฐ ข่มขู่จะระงับสัญญาณโทรศัพท์ และเช็คเงินคืนภาษี หลอกต้องไปทาธุรกรรมที่หน้าตู้เพื่อยืนยันตัวตน
ล่าสุด ดีอีเอส อยู่ระหว่างหารือกับ กสทช. ถึงแนวทางการให้บริการเสียงแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในการนำเพลงรอสายเเจ้งเตือนประชาชนที่ได้จัดทำขึ้นมาบูรณาการร่วมกันเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ พร้อมทั้งเป็นการแจ้งเตือนประชาชนในวงกว้าง ให้ตระหนักก่อนทำธุรกรรมทางออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้หลงเชื่อมิจฉาชีพ และถูกหลอกลวงให้โอนเงิน หรือถูกหลอกให้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆในอนาคต