onlinenewstime.com : สถิติของการเก็บกระทง จากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ย้อนหลัง 7 ปี ที่ตัวเลขของ “กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติ” มีตัวเลขทิ้งห่าง “กระทงที่ทำจากโฟม” ต่อเนื่องมาโดยตลอด
ข้อมูลดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นถึง ความสำเร็จของการรณรงค์สร้างจิตสำนึก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ให้คนหันมาลอยกระทงด้วยวัสดุธรรมชาติ เพราะไม่ต้องการสร้างมลภาวะต่อแหล่งน้ำ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม
มาถึงเทศกาลลอยกระทง ในปี 2562 นี้ เพื่อดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองไม่ให้เน่าเสีย ตัดสินใจเลือกประเภทของกระทงกันได้หรือยัง ว่าวัสดุประเภทไหน และสถานที่ใดเหมาะสม กับประเภทของกระทงที่เลือก
เวบไซต์ ออนไลน์ นิวส์ไทม์ รวบรวมระยะเวลาการย่อยสลาย ของกระทงในแต่ละประเภทวัสดุ โดยกระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ใช้ระยะเวลาในย่อยสลาย 14 วัน สถานที่ลอยที่เหมาะสม คือ แหล่งน้ำ ที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมา
ในขณะที่กระทงขนมปัง และกระทงไอศกรีม มีระยะเวลาย่อยสลาย 3 วัน สถานที่เหมาะสมที่จะลอย คือแหล่งน้ำที่มีปลากิน ในส่วนของกระทงโฟม ที่มีการรณรงค์ให้ลดการใช้ เนื่องจากระยะเวลาในย่อยสลายมากถึงกว่า 50 ปี
แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรลอยที่แหล่งน้ำซึ่งมีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมา ส่วนคนที่ไม่สะดวกออกไปนอกสถานที่นั้น มีลอยกระทงออนไลน์เป็นทางเลือก ไม่ให้ตกเทศกาล โดย สามารถเข้าไปได้ตาม ลิงค์นี้ The Old Siam , เว็บไซต์ MTHAI , เว็บไซต์ Ecards ,Design Animation , เว็บไซต์ Sanook
กระทงไปไหน เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า หลังจากที่เราลอยกระทงแล้ว กระทงไปไหนบ้าง นอกจากลอย ไปกับสายน้ำ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง ในส่วนเฉพาะพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร การจัดเก็บกระทง เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ซึ่งในทุกปี ต้องมีการเตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับเก็บกระทง ในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังขั้นตอนการเก็บกระทงแล้ว จะนำไปคัดแยก และพักไว้ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม จากนั้นจึงนำไปสู่ขั้นตอนการทำลายอย่างถูกวิธี หากเป็นกระทงวัสดุธรรมชาติ ที่ย่อยสลายได้ จะนำไปหมักทำปุ๋ยและนำไปฝังกลบ ขณะที่กระทงโฟม ที่ย่อยสลายไม่ได้นั้น จะนำส่งโรงงานรีไซเคิลต่อไป รู้กันอย่างนี้แล้ว มาเป็นคนยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันดีกว่า โดยการเลือกสนุกกับเทศกาล และไม่สร้างภาระให้แหล่งน้ำไปพร้อมๆกัน