fbpx
News update

ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19

Onlinenewstime.com : การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่เข้มข้นของแต่ละประเทศ ถือเป็นวิกฤตที่ทำให้ระบบอุปสงค์ อุปทาน ระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนโดยรวมของโลก เกิดการชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งมีสายป่านสั้นกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ หน่วยงานภาครัฐหลายองค์กร จึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19” ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับตัวของผู้ประกอบการหลังวิกฤตโควิด-19

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ความต้องการสินค้าและบริการเกิดการชะลอตัว ดังนั้นการเพิ่มกำลังการผลิต จึงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ ควรหันมาให้ความสำคัญ คือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อทำให้กระบวนการผลิตสินค้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ หลังจบวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ที่ผ่านมา บีโอไอได้ให้สิทธิประโยชน์หลายด้านแก่ผู้ประกอบการ จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี แต่ละปี มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม ที่มีขนาดการลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs คิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนโครงการทั้งหมด ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ

โดยบีโอไอได้มีการปรับปรุงมาตรการ และเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้ SMEs เข้าถึงมาตรการของบีโอไอได้ง่ายขึ้น โดยคุณสมบัติของ SMEs ที่บีโอไอให้การส่งเสริมต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน มีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500,000 บาท ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ได้แล้ว จากเกณฑ์ปกติทั่วไป ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขข้างต้น สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs โดยจะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐาน คือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี (ตามประเภทกิจการ) การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเงินลงทุน การได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร และการยกเว้นอากรวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น

บีโอไอยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการลงทุน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ (1) การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (2) การสนับสนุนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร (3) ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศ (4) การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และ (5) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 3 เท่า สำหรับเงินลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม หากมีการตั้งกิจการในพื้นที่ที่กำหนด เช่น หากตั้งกิจการใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปีจากสิทธิพื้นฐาน หรือหากตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ จะได้สิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะอาศัยวิกฤตโควิดครั้งนี้ เตรียมองค์กรให้พร้อมรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น จากรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต โดยมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มี 5 ด้าน ได้แก่

  1.  การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  2.  การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการนำระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีใหม่มาใช้
  3.  การวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ
  4.  การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร ไปสู่ระดับสากล เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (FSC) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (ISO 22000) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน (ISO 14061) หรือ SFM เป็นต้น
  5.  การนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในโครงการ

สำหรับสิทธิประโยชน์ ของมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ผู้ประกอบการ จะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในการปรับปรุง ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนธันวาคม 2563

“จากวิกฤตครั้งนี้ เราจะเห็นว่ากิจการหลายแห่งได้นำระบบดิจิทัล ไอทีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่สามารถมาขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอได้

หรือบางบริษัทมีการติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งบีโอไอให้การส่งเสริมเช่นเดียวกัน หัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ใ นภาวะวิกฤตก็คือการปรับตัว” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ บีโอไอยังได้ทำงานสอดประสาน กับสถาบันการเงินของรัฐ ที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ทั้ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤต ดังนี้

มาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

นายกันตพนธ์ แก้วมณี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ธนาคารมี 5 แนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือ “ลด พัก ขยาย ผ่อน และเพิ่ม”

โดย ลด คือการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการใน 22 จังหวัดท่องเที่ยว พัก คือการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นานสูงสุด 2 ปี ขยาย คือการขยายเงื่อนไขการชำระหนี้ สูงสุด 5 ปี ผ่อน คือการพิจารณาผ่อนผันอัตราการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ เพิ่ม คือ เพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยให้วงเงินสินเชื่อซอฟท์โลน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี รวมวงเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท

SME D Bank เห็นว่า วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ คือการเติมความรู้ เพิ่มรายได้ และขยายตลาด ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด นอกจากมีมาตรการด้านสินเชื่อแล้ว ธนาคารได้เปิดห้องเรียนออนไลน์ รวม 24 หลักสูตร เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ รวมทั้งเปิดช่องทางให้ค้าขาย และขยายธุรกิจผ่านตลาดออนไลน์ “ฝากร้านฟรี SME D Bank” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามพันธกิจของธนาคารที่มุ่ง “เติมทุน คู่ความรู้ เพื่อช่วยเหลือ SMEs”

ด้านนายอนุชิต วิทยบูรณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรและสำนักงานผู้แทน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเช่นเดียวกันว่า EXIM BANK มีพันธกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ในการทำการค้า สนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศ โดยการให้สินเชื่อ และการให้หลักประกันในการส่งออก

ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือพิเศษ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก มาตรการลดภาระในการชำระหนี้ มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการลดภาระผู้ส่งออกไทยสู้ภัยไวรัสโคโรนา สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เป็นต้น

“วิกฤตโควิดครั้งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เช่น การทำงานที่บ้าน การเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ รวมถึงซัพพลายเชนของโลก ถูกแทนที่ด้วยซัพพลายเชนในระดับภูมิภาค

เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลัก ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ระบบขนส่ง โลจิสติกส์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ มีขนาดการบรรจุน้อยลง รวมถึงระบบการค้าที่เป็นออนไลน์ แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น” นายอนุชิตกล่าว

ขณะที่นายสมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ตัวจริง ที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กล่าวว่า ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบีโอไอในปี 2562

เนื่องจากต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานภายในโรงงาน ซึ่งบริษัทมีเงินทุนสำหรับติดตั้งได้ 50 กิโลวัตต์ แต่จากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอ ทำให้บริษัทสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 314 กิโลวัตต์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 5 – 6 หมื่นบาทต่อเดือน สามารถนำเงินไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจด้านอื่นๆ ได้ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มาก

“จากความคิดที่ว่าการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ มีความยุ่งยากนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีความยุ่งยากอย่างที่คิด บีโอไอมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ เพราะฉะนั้น จึงหมดประเด็นเรื่องความกลัวสำหรับธุรกิจ SMEs ในการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ” นายสมเจตน์กล่าว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้สิทธิประโยชน์ จากการใช้มาตรการของบีโอไอ เพื่อสร้างแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และบีโอไอพร้อมเป็นกองหนุน ติดอาวุธให้ SME ไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้