Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

‘ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง’ ในไทย…กำลังรุ่ง ปี 2565 นักธุรกิจแห่ลงทุนเปิดกิจการ..เติบโตถึง 91

Onlinenewstime.com : ปี 2565 นักธุรกิจชาวไทยแห่ลงทุน ‘ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง’ เพิ่มขึ้นกว่า 91% รายได้รวมและผลกำไรธุรกิจเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี สอดคล้องปริมาณขายอาหารสัตว์และมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น

ผลพลอยได้ มาจากวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลง สังคมผู้สูงอายุ โรคระบาด อีกทั้งการยกสถานะสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว ส่งผลให้ธุรกิจฯ มีผลตอบรับที่ดี ดึงดูดนักลงทุนเข้าตลาดเพิ่มขึ้น พร้อมเตือน นักลงทุนควรนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการประกอบธุรกิจตอบโจทย์ผู้บริโภค และต้องคำนึงถึงการบริการที่เป็นเลิศเพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำแบบต่อเนื่อง

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ภาวะการแข่งขันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการประกอบสัมมาอาชีพ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป

การไม่มีครอบครัว ครองตัวเป็นโสด สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ปี 2563 – 2565 ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 63 ราย ทุนจดทะเบียน 101.90 ล้านบาท

ปี 2564 จัดตั้ง 68 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือร้อยละ 8) ทุน 119.13 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 17) ปี 2565 จัดตั้ง 130 ราย (เพิ่มขึ้น 62 ราย หรือร้อยละ 91) ทุน 210.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 91.22 ล้านบาท หรือร้อยละ 77)

ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 2,933.51 ล้านบาท กำไร 57.63 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 3,512.44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 578.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 20) กำไร 46.31 ล้านบาท (ลดลง 11.32 ล้านบาท หรือร้อยละ 20)

และ ปี 2564 รายได้รวม 4,267.72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 755.28 ล้านบาท หรือร้อยละ 22) กำไร 127.76 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 81.45 ล้านบาท หรือร้อยละ 176)

รมช.พณ.สินิตย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 562 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่

และมีมูลค่าทุน 1,359.60 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.006 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 243 ราย (ร้อยละ 43.24) ทุนจดทะเบียน 679.88 ล้านบาท (ร้อยละ 50.01) รองลงมา คือ ภาคกลาง 130 ราย (ร้อยละ 23.13) ทุน 228.36 ล้านบาท (ร้อยละ 16.80) ภาคตะวันออก 49 ราย (ร้อยละ 8.72) ทุน 80.08 ล้านบาท (ร้อยละ 5.89)

ภาคเหนือ 46 ราย (ร้อยละ 8.18) ทุน 68.90 ล้านบาท (ร้อยละ 5.07) ภาคใต้ 45 ราย (ร้อยละ 8.01) ทุน 236.60 ล้านบาท (ร้อยละ 17.40) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 ราย (ร้อยละ 5.34) ทุน 39.20 ล้านบาท (ร้อยละ 2.88) และ ภาคตะวันตก 19 ราย (ร้อยละ 3.38) ทุน 26.58 ล้านบาท (ร้อยละ 1.95)

ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 1,334.93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.19 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5.15 ล้านบาท (ร้อยละ 0.38) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.02 ล้านบาท (ร้อยละ 0.37) อังกฤษ มูลค่า 3.88 ล้านบาท (ร้อยละ 0.29) และอื่นๆ มูลค่า 10.62 ล้านบาท (ร้อยละ 0.77)

การลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการขายอาหารสัตว์และมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

โดยปริมาณการขายอาหารสัตว์ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13% จากปีที่ผ่านมา (2563)

ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณการขายอาหารสัตว์ในตลาดราว 929 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 8 โดยจำนวนอาหารสัตว์ในตลาด

สอดคล้องกับจำนวนการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นของสังคมไทย ลักษณะของอาหารสัตว์มีการแบ่งประเภทมากขึ้น เช่น โรคเฉพาะของสัตว์เลี้ยง การบำรุงเฉพาะส่วน และตามอายุของสัตว์เลี้ยง ซึ่งสนับสนุนธุรกิจบริการดูแลสัตว์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการบริการที่หลากหลาย

หากพิจารณาแนวโน้มมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงพบว่า ปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 44,592 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 8.4 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพิ่มช่องทางการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น การให้บริการโดยคำนึงถึงความสะอาด มีมาตรฐาน

ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถติดตามสัตว์เลี้ยงได้ 24 ชั่วโมง มีบริการที่ครบวงจร และให้ความสำคัญกับการรักษาโรคของสัตว์เลี้ยงทั้งโรคทั่วไปและเฉพาะทาง

รวมทั้ง ธุรกิจต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุน และใส่ใจการบริการที่เป็นเลิศเพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจ และธุรกิจสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง” รมช.พณ.สินิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

Exit mobile version