Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ธุรกิจอาหารแช่แข็งไทยกำลังคึกคัก ผู้ประกอบการแห่ลงทุน จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่เพิ่มขึ้นจากปี ‘64 กว่า 84% มูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี แตะ 3 แสนล้านบาท

Onlinenewstime.com : รมช.พณ.สินิตย์ เผย ธุรกิจอาหารแช่แข็งของไทยกำลังสดใส ปีที่ผ่านมาทำกำไรเกิน 1 หมื่นล้านบาท มูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี แตะ 3 แสนล้านบาท นักลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลรายใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 84% สะท้อนความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจเป็นที่สนใจของนักลงทุน สอดคล้องตัวเลขส่งออกอาหารแช่แข็งไทยไปตลาดโลกเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ธุรกิจอาหารแช่แข็งของไทยกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ความแข็งแกร่งของธุรกิจสะท้อนได้จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจอาหารแช่แข็งยังคงสามารถเติบโตได้ดี

โดยดูจากมูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี มีตัวเลขกว่า 3 แสนล้านบาท (ปี 2562 มูลค่าตลาด 307,088.48 ล้านบาท ปี 2563 มูลค่า 283,864.95 ล้านบาท และ ปี 2564 มูลค่า 303,556.17)

ขณะที่ ผลประกอบการยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 มีผลกำไรถึง 10,568.88 ล้านบาท (ปี 2562 กำไร 7,363.03 ล้านบาท ปี 2563 กำไร 7,001.00 ล้านบาท)  

เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักลงทุนที่เข้าสู่ธุรกิจ พบว่า ช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่เพิ่มขึ้นจากปีช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 กว่า ร้อยละ 84 หรือ เพิ่มขึ้น 42 ราย (ปี 2565 จัดตั้งใหม่ 92 ราย ปี 2564 จัดตั้ง 50 ราย)

ขณะที่ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 283.62 หรือ เพิ่มขึ้น 221.28 ล้านบาท (ปี 2565 ทุน 299.30 ล้านบาท ปี 2564 ทุน 78.02 ล้านบาท)

ภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจฯ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 48,091.14 ล้านบาท (ร้อยละ 86.20) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ทุน 3,629.82 ล้านบาท (ร้อยละ 6.51) จีน ทุน 1,038.45 ล้านบาท (ร้อยละ 1.86) สิงคโปร์ ทุน 813.89 ล้านบาท (ร้อยละ 1.46) และ สัญชาติอื่นๆ ทุน 2,213.40 ล้านบาท (ร้อยละ 3.97)     

สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าแช่แข็งของไทยไปตลาดโลก จำนวน 8 รายการ (ผลไม้แช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาและปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปูสดแช่เย็นแช่แข็งนึ่งหรือต้ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง)

พบว่า ช่วงเวลา 9 เดือน (มกราคม – กันยายน) ของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 87,896 ล้านบาท มากกว่าการส่งออกของปี 2563 ทั้งปี จำนวน 2,682 ล้านบาท (มูลค่าส่งออกปี 2563 : 85,214 ล้านบาท)

ขณะที่การส่งออกของ 2564 ทั้งปี มีมูลค่า 94,847 ล้านบาท (ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ กรมศุลกากร)

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565) มีธุรกิจอาหารแช่แข็งดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย จำนวน 833 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.10 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (849,958 ราย)

และมีมูลค่าทุน 55,786.70 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 0.28 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (20.56 ล้านล้านบาท) ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 719 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.32 มูลค่าทุน 43,002.83 ล้านบาท

กิจการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคกลาง 292 ราย (ร้อยละ 35.05) ทุนจดทะเบียนรวม 20,109.83 ล้านบาท (ร้อยละ 36.05) รองลงมา คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 179 ราย (ร้อยละ 21.49) อันดับ 3 ภาคใต้ จำนวน 119 ราย (ร้อยละ 14.29) และจังหวัดในภูมิภาคที่มีนิติบุคคลคงอยู่สูงสุด คือ สมุทรสาคร จำนวน 134 ราย

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนของธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมทาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารแช่แข็งพบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) คิดเป็นร้อยละ 89.5 รองลงมา คือ ธุรกิจขนาดกลาง (M) คิดเป็นร้อยละ 6.3 และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) คิดเป็นร้อยละ 4.2

ซึ่งรายได้ของปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ประมาณร้อยละ 2.56 ในขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 เท่า แสดงว่าธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมทาน มีความสามรถในการบริหารต้นทุนมากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกในการทานอาหาร

ธุรกิจอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นทั้งการจำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอาหารแช่แข็งสามารถเก็บรักษาได้นาน มีความได้เปรียบในการรักษาความสด และช่วยลดความถี่ในการออกไปซื้อของที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต

โดยอาหารแช่แข็งมีกลุ่มลูกค้าทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยร้านอาหารซื้อเพื่อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารสำหรับจำหน่ายให้ลูกค้า ส่วนผู้บริโภคซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารทานเองที่บ้าน หรือซื้ออาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานเพื่อความสะดวกในการบริโภค

ธุรกิจอาหารแช่แข็ง ประกอบด้วยการผลิตวัตถุดิบแช่แข็ง และการผลิตอาหารแช่แข็งพร้อมทาน โดยในส่วนของวัตถุดิบแช่แข็ง ส่วนหนึ่งถูกผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ตามแนวทาง ‘อาหารไทย อาหารโลก’ สำหรับอาหารแช่แข็งพร้อมทาน

ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ มีราคาไม่แตกจากอาหารปรุงสดใหม่มากนัก และมีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากเป็นช่องทางจำหน่ายหลักที่หาซื้อได้ง่าย มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ (ที่มา : ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ)

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจอาหารแช่แข็ง ในตลาดยังคงมีพื้นที่สำหรับนักลงทุนรายใหม่และพร้อมให้รายเก่าขยายกิจการเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยที่ต้องคำนึงนอกจากต้นทุนด้านวัตถุดิบการเกษตรแล้ว ต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะราคาเมล็ดพลาสติก ก็เป็นส่วนสำคัญของการผลิตอาหารแช่แข็งด้วย” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

Exit mobile version