Onlinenewstime.com : เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม หรือ University Network for Chance – UNC ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) องค์กรภาคประชาสังคม สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ พัฒนาองค์ความรู้ในการออกแบบและผลิตสื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ “โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่” ปีที่ 6 โดยมีการจัดแสดงผลงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ (Bacc)
มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 17 คณะ จาก 13 มหาวิทยาลัย ประเด็นการสื่อสาร สะท้อนปัญหาสังคมร่วมสมัย อาทิ ปัญหาด้านสื่อออนไลน์และการกลั่นแกล้งทางสื่อออนไลน์ (Bully), ปัญหา PM 2.5, ปัญหาขยะ การคุกคามทางเพศ ฯลฯ
อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า “การที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยด้านการออกแบบเพื่อการสื่อสาร ลุกขึ้นมาวิเคราะห์สภาพปัญหา และนำมาพัฒนาการออกแบบสื่อสาร เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมในมิติต่าง ๆ เท่ากับเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับเยาวชน เมื่อจบไปทำงาน จะเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่นำความรู้ความสามารถนี้ไปพัฒนาการออกแบบสื่อสารเพื่อสังคมในชีวิตจริงได้
โดยในอนาคต สสส. มุ่งหวังให้โครงการนี้ ได้มีการบูรณาการต่อยอดไปสู่สหวิชาชีพ ที่มีคณะ สาขาวิชาชีพอื่น ๆ อาจเป็นบัญชี กฎหมาย ได้เข้ามาร่วมสร้าง และออกแบบสื่อเพื่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมด้วยกัน
รวมทั้งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในประเด็นต่างมาร่วมรับฟัง เพื่อสะท้อนกลับไปพัฒนา และปรับปรุง ให้มีการใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน”
อาจารย์ดนุ ภู่มาลี ประธานโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปีที่ 6 ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาโครงการในอนาคต ว่า “เราเริ่มต้นทำโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2557 มีเพียง 6 คณะ จาก 4 มหาวิทยาลัย กระทั่งในปี 2562 เราดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 6 มีการเติบโตขึ้น เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม หรือ UNC ทั้งหมด 13 มหาวิทยาลัย 17 คณะ
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้รับความสนใจ จากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คือ ไต้หวัน และสิงค์โปร์ ต้องการเข้ามาร่วมมือกับเรา ซึ่งทางเครือข่ายฯ ต้องขอใช้ระยะเวลาในการคิด หารือ เพื่อออกแบบโครงสร้างการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องกัน
ในอีกด้านก็อยากชวนมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เข้ามาร่วมโครงการนี้ด้วย เราอยากดึงตัวตนและวัฒนธรรม สภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ มาออกแบบและสื่อสาร ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผลที่ได้รับ จะตกอยู่ที่นิสิตนักศึกษา ที่จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ปัญหา เกิดทัศนคติที่ดีในการออกแบบงานสื่อสารเพื่อสังคม ที่จะสะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขาเองได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”