fbpx
News update

นักโภชนาการเตือน กักตุนผิดชีวิตเปลี่ยน เสี่ยงไตพังแถมโรคเรื้อรังถามหา

Onlinenewstime.com : ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานชมรมโภชนวิทยามหิดล กล่าวถึงการสำรองอาหารในระยะนี้ว่า ทันทีที่ทุกคนได้ทราบข่าวการประกาศปิดห้างร้านต่างๆ คนส่วนใหญ่ต่างเฮโล กันไปกักตุนอาหารอย่างมากมาย และ item ยอดฮิตคงหนีไม่พ้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง ผักกาดดอง โจ๊กซอง และอาหารสำเร็จแช่เเข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารไฮโซเดียม เปี่ยมไปด้วยความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง และการที่ไตต้องทำงานหนักเพื่อขับออก 

ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง อยู่ที่ ~ 1,500 มก. แถมถ้าใส่กับปลากระป๋องลงไปอีก จะเสริมโซเดียมอีกประมาณ ~ 600 มก. ซึ่งรวมแค่มื้อเดียว ทำให้รับโซเดียมไปถึง 2,100 มก. เกินกว่าโควต้า ที่วันหนึ่งแนะนำไม่ให้เกิน 2,000 มก.

ผู้บริโภคจำเป็นต้องตระหนักว่าอาหารที่กักตุน ไม่ควรมีความเสี่ยงให้ความดันสูงขึ้น หรือให้ไตทำงานหนัก เพื่อสกัดโรคเรื้อรังจากการกินอาหารโซเดียมสูง พลังงานสูง แต่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายไปไหน ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาการตัวบวม น้ำหนักขึ้น ไขมันสูง และความดันโลหิตเพิ่ม

แนะนำให้ลองเปลี่ยนการกักเก็บ เป็นอาหารในหมวดคาร์โบไฮเดรต เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ อาหารหมวดโปรตีน เป็นเนื้อปลาสด (แล่เป็นชิ้นแช่แข็งไว้) ไข่ไก่ ถั่ว ธัญพืชต่างๆ เต้าหู้ถั่วเหลือง หรือถ้าหากเป็นทูน่ากระป๋อง ควรเลือกแบบเเช่ในน้ำแร่

สำหรับหมวดไขมัน เลือกน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หมวดผักผลไม้ เป็นหมวดที่ต้องมีห้ามขาด ให้เลือกผักผลไม้ที่เก็บได้ทน เช่น บล็อคโคลี่ กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก แครอท ไชเท้า คะน้า อาจใช้วิธีนำผักมาทำความสะอาดและหั่นใส่ถุงเป็นแพ็คๆ เเช่เเข็งไว้ เพื่อพร้อมปรุงประกอบอย่างสะดวกทุกมื้อ ผลไม้ แนะนำ แอปเปิ้ล กล้วย (ใส่ถุงปิดสนิทและแช่ตู้เย็น) หรืออโวกาโด เป็นต้น

การเก็บอาหารสำรอง ควรเก็บไว้ให้กินได้สักประมาณ 7-10 วัน จึงค่อยไปซื้อมาเก็บใหม่ ไม่มีความจำเป็นต้องตุนแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  กับปลากระป๋องให้มากมาย เพราะจะได้แต่แป้ง พลังงาน และโซเดียมสูง รวมทั้งไม่มีใยอาหาร  เพราะสุดท้ายอาจจะรอดจากโควิด แต่หวุดหวิดเป็นโรคเรื้อรังก็เป็นได้

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดความรู้เรื่องสุขภาพเพิ่มเติม สามารถลงเรียนออนไลน์ เรื่อง โภชนาการและสมุนไพรเพื่อส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ต้านโรค และชะลอวัย จัดโดย มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ ร่วมกับ ชมรมโภชนวิทยามหิดล มีวิทยากร คือ ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์, ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์, ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ และ รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่

โดยจะอบรมสดออนไลน์ (Online) ในวันเสาร์ที่ 9 และ 16 พค. นี้ รายละเอียดที่ ลิงค์ หรือโทร 086 310 0047