Onlinenewstime.com : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกพลัง 5 องค์กรของไทยและสหราชอาณาจักร พัฒนายกระดับบริการ ระบบขนส่งมวลชนทางรางไทยให้ก้าวไกล และมีมาตรฐาน โดย ผศ. ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด โดย คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ University College London สหราชอาณาจักร โดย ดร.ทากุ ฟูจิยาม่า
พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย Transport for London และตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ภายใต้โครงการวิจัย “Smart Metro Operations Enhancement Through Data Analytics” ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Big Data และการนำมาใช้ประโยชน์วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อพัฒนาระบบบริการในรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
โครงการนำร่อง SmartMetro
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานโลจิสติกส์และระบบรางเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญ ด้วยเป็นระบบคมนาคมที่ตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สมาร์ทซิตี้ ลดปัญหารถติด ลดการใช้พลังงานในภาคขนส่งที่สูงถึง 40% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ ตลอดจนช่วยลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพลงได้
ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันพัฒนาสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายแรกขึ้น จนถึงวันนี้ มีการลงทุนมหาศาล ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และกำลังขยายไปใน 5 เมืองหลักในภูมิภาค เช่น ภูเก็ต นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น พิษณุโลก
ดังนั้นความร่วมมือไทย-สหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการวิจัย Smart Metro Operations Enhancement Through Data Analytics โดยมีโครงการ SmartMetro การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นโครงการนำร่อง จะเป็นพลังสำคัญ เพื่อการวิจัยพัฒนาร่วมกัน และวางกรอบแนวทางการยกระดับมาตรฐานและบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศไทย
มุ่งพัฒนามาตรฐานขนส่งทางรางไทย
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยของโครงการฯ กล่าวว่า ในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของไทยนั้น ปัจจุบันข้อมูลการให้บริการรถไฟฟ้า มีอยู่หลากหลายและกระจัดกระจาย โดยข้อมูลส่วนใหญ่ถูกเก็บอยู่ที่ผู้ประกอบการ หรือผู้รับสัมปทาน ยังไม่ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงบนแพลทฟอร์มเดียวกัน
การพัฒนา Big Data และการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จะทำให้เกิดประโยชน์ ในการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน อีกทั้งในอนาคต เราต้องมีเกณฑ์ในการกำกับดูแลและพัฒนาคุณภาพ ของการให้บริการแก่ผู้ใช้รถไฟฟ้า ตลอดจนส่งเสริมความปลอดภัยอย่างแท้จริง
จากความร่วมมือระหว่างไทย – อังกฤษครั้งนี้ จะเป็นการนำกรณีศึกษาและประสบการณ์จริง ของการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวทาง เพื่อวางกรอบแนวทางการใช้ข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการออกนโยบายและกำกับดูแล การให้บริการรถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตาม มาตรฐานระบบขนส่งทางรางของไทย ที่จะมีขึ้นในอนาคตด้วย
พัฒนา BIG DATA และ DATA ANALYTICS
ดร.จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตการจัดการโลจิสติกส์และวิศวกรรม ในฐานะหัวหน้าโครงการ SmartMetro กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลวางแผนแม่บทด้านดิจิทัล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา Thailand 4.0
ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมระบบราง ต้องปรับตัว พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data และนำข้อมูลที่เตรียมไว้ มาใช้วิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ ตอบโจทย์หรือวางแผนคาดการณ์ ที่เรียกว่า Data Analytics ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เพื่อพัฒนาการบริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของไทย ให้สามารถรองรับความต้องการของผู้โดยสารในอนาคต และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้โครงการนำร่อง SmartMetro นี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Newton Fund ภายใต้ชื่อโครงการ Industry Academic Partnership Programme-18/19 ซึ่งมี Royal Academy of Engineering และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ให้การสนับสนุน โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทำงานวิจัยร่วมกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร
นำความรู้และโจทย์จากการดำเนินงานจริง ในภาคอุตสาหกรรม มาใช้ในการเรียนการสอน ผลิตบุคลากรของไทยและพัฒนาศักยภาพในรูปแบบ Reskill และ Upskill ให้มีความเชี่ยวชาญ และทักษะประสบการณ์ ที่ใช้งานได้จริง พร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนทางราง
ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพคนไทยในระบบราง
ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบัน คณะวิศวะมหิดล โดยกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง เร่งผลิตบุคลากรรองรับการขนส่งระบบราง 2หลักสูตร การเรียนการสอนในระดับปริญญาโท ได้แก่
1. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นสหวิทยาการที่บูรณาการศาสตร์ ด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานเข้าด้วยกัน
2. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาระบบขนส่งทางราง (หลักสูตรนานาชาติ) จากการลงทุนในโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการแรงงานและผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้านเพิ่มสูงมาก ดังนั้นการจัดโครงการอบรมเพื่อถ่ายทอดพัฒนาความรู้ ทักษะความเป็นมืออาชีพด้านการให้บริการขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง หรือ Continuing Professional Development (CPD) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ University College London และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจากสหราชอาณาจักร ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์อันยาวนาน ในการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มาถ่ายทอดให้อาจารย์ นักวิจัย และภาคอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรและความก้าวหน้า ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศไทย