
Onlinenewstime.com : ดร.สิรี เผยงานวิจัยการบริหารจัดการขยะพลาสติกโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน นำร่องพื้นที่สยามพารากอน สยามเซนเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี ผลการวิจัยเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการแยกขยะ และพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ที่ใช้ได้จริงในการจัดการขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ลดปริมาณขยะเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า งานวิจัยในโครงการวิจัยการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้
โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตเมืองชั้นในเป็นหนึ่งในกรอบงานวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ บพข. ให้การสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่นนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ และการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ข้อมูลดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการข้อมูลของเสีย การวิจัยพัฒนาให้ได้วัสดุใหม่จากการรีไซเคิลเกิดเป็นอุตสาหกรรมรีไซเคิลและเคมีมูลค่าสูง หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ผลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนนโยบายการจัดการขยะของรัฐบาล เช่น Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561 – 2573 ที่มีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกเข้าสู่การรีไซเคิลได้ 100 % ในปี 2570 หรือของกรุงเทพมหานครที่มีเป้าหมายในการผลักดันไทยไปสู่ การจัดการขยะพลาสติกจากโรงงานให้เป็นศูนย์ (Zero Plastic Waste)
เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิด โดยไม่ปล่อยให้มีของเสียออกจากกระบวนการผลิต นำสังคมไทยไปสู่สังคมปลอดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่าโครงการวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบผลกระทบของสถานที่และสภาพแวดล้อม ที่มีต่อการบริหารจัดการขยะพลาสติกโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยมีขั้นตอนการศึกษาวิจัยผู้บริโภคเขตปทุมวัน ที่เป็นเขตเมืองชั้นในซึ่งเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคในพื้นที่สยามพารากอน สยามเซนเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี
ซึ่งการวิจัยจะทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาวะแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม สำนักงาน ศูนย์การค้า ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทิ้งบรรจุภัณฑ์พลาสติก และคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อสร้างความเข้าใจ และหาเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้ง และการคัดแยกขยะพลาสติกได้ถูกต้องตามหลักการรีไซเคิลคือการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง
นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยในเรื่องการพัฒนาและจัดทำแบบแผนธุรกิจว่า เป็นการศึกษาถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมดให้มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดศูนย์คัดแยกขยะพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกมูลค่าต่ำ
โดยสามารถคัดแยกและรวบรวมเพื่อจัดส่งขยะไปยังโรงงานรีไซเคิลที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกด้วยนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ประเภทพลาสติก PCR ( Post – Consumer Recycled) เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐาน
ซึ่งเป็นการยกระดับการบริหารจัดการขยะรีไซเคิล และสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นในลักษณะเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง เป็นการลดการเพิ่มขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล
จากการประเมินและคาดการณ์ผลการวิจัยโครงการนี้ จะช่วยให้เพิ่มการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทยได้ประมาณ 2,190 ตันต่อปี เป็นการสนับสนุนให้เกิดเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง มีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ค่าบริหารจัดการลดลง ลดการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ รวมถึงส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
บพข. ยังให้การสนับสนุนทุนตามกรอบงานวิจัยด้านต่างๆ ได้แก่ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง สุขภาพและการแพทย์ พลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ระบบคมนาคมแห่งอนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ
ซึ่ง บพข. ถือเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รวมทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชนในการร่วมมือผลักดันงานวิจัยให้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้