fbpx
News update

Social Media แฝงอันตราย ใช้อย่างไรให้เด็กๆปลอดภัย

Onlinenewstime.com : กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผย ในปัจจุบันเด็กๆสามารถเข้าถึง Social Media ได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงเรียนออนไลน์ ที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียน และใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างนาน ผู้ปกครองเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ในการคัดกรองการเข้าถึง Social Media ต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาและปกป้องเด็กๆจากอันตรายในการใช้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเรียนออนไลน์ เด็กสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้า Social Mediaได้ง่าย และใช้เวลาค่อนข้างมาก อีกทั้งผู้ปกครองอาจดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กๆ รับข่าวสารผ่านสื่อได้มาก ซึ่งมีข้อดีคือสามารถหาความรู้ต่างๆได้ทันโลก และกว้างขวาง แต่บางครั้งข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง หรือบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้

โดยหากเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Social media แนะนำให้งดใช้ Social Media ชั่วคราว เพื่อลดการรับข้อมูลที่กระทบต่อจิตใจ หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือข้อมูลที่ทำให้ตนเองหรือครอบครัวเสียหาย เช่น การวิจารณ์โดยใช้คำพูดไม่เหมาะสม

เด็กสามารถกด report โพสต์นั้นและ block เพื่อไม่ให้ถูกคุกคาม ร่วมกับสามารถ capture หน้าจอ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับดำเนินคดีทางกฏหมายได้ และให้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ

ให้หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้น และหากข้อมูลข่าวที่ทำให้ไม่สบายใจนั้น เกิดจากสิ่งที่ผู้ปกครองเผยแพร่ สามารถบอกผู้ปกครองให้ลบข้อมูลนั้น และแจ้งว่าครั้งหน้าจะต้องได้รับความยินยอมก่อนเผยแพร่ข้อมูล เช่น รูป วีดีโอ หรือข้อความต่างๆที่เกี่ยวกับเด็ก

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กๆที่ได้รับข้อมูลจาก Social Media ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง โดยปรึกษากับผู้ปกครอง สำหรับข้อมูลที่เป็นภาพนิ่งหรือคลิปวีดีโอ อาจจะไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริงทั้งหมด เพราะสามารถเป็นมุมกล้อง หรือตัดต่อคลิปได้

ทำให้ไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ ควรงดการส่งต่อข้อมูล ที่มีผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลนั้นๆ ให้แสดงความเห็นอย่างสุภาพ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนที่รู้จัก อาจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจ และไม่ควรตอกย้ำเกี่ยวกับข่าว ควรให้กำลังใจหรือพร้อมที่จะช่วยเหลือถ้าต้องการได้

สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการลงข้อมูล ภาพ หรือวิดีโอใน Social Media ที่เกี่ยวกับเด็ก ควรคำนึงถึงเรื่องสิทธิและเรื่องส่วนตัว (privacy) ของเด็ก สอดส่องเรื่องการใช้ Social Media ของเด็กๆอย่างสม่ำเสมอ หากสังเกตว่าเด็กๆ มีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในช่วงที่ใช้หรือหลังใช้ Social Media ให้เข้าไปพูดคุยสอบถามรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น

รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ Social Media แก่เด็ก เช่น การเคารพสิทธิผู้อื่น การแสดงความเห็นอย่างสุภาพ การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล การมีวินัยในการใช้ให้เป็นเวลา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อได้ทำผิดพลาดจากการใช้ Social Media

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก ทั้งเด็กและผู้ปกครอง คือการที่เข้าไปเป็นผู้เกี่ยวข้องกับ Cyber bully เพราะจะส่งผลเสียตามมาได้อย่างมากโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยมีครอบครัวเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับเด็ก จัดการแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน