Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

บางบอน พลาสติค กรุ๊ป สู่ นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ รุกตีตลาดโครงการบิ๊กอสังหาฯ ตั้งเป้า ปี 2565 โกยยอดขาย 1,500 ล้าน

Onlinenewstime.com : บางบอน พลาสติค กรุ๊ป เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด ภายใต้คอนเซปต์ “ครบเครื่องเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์พลาสติกก่อสร้าง” เพื่อสะท้อนตราสินค้าผ่านชื่อบริษัทให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำแบรนด์นาโนฯ

พร้อมเดินเกมรุกเจาะกลุ่มเซกเมนต์ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มที่ และเผยผลประกอบการ 4 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม – เมษายน 2565) ทำรายได้รวม 435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตั้งเป้าหมายยอดขายรวม 1,500 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2565

นายภัทร บุญญลักษม์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า “บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ในงานวิศวกรรม มุ่งเน้นการทำธุรกิจผลิตสินค้าสำเร็จรูปและชิ้นส่วนสินค้าตามความต้องการของลูกค้า หรือที่่เรียกว่า Original Equipment Manufacturer (OEM)

โดยบริษัทได้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่มีคุณภาพสูง ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้แก่แบรนด์ชั้นนำ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

โดยในปี 2550 บริษัทได้ขยายฐานการผลิตเพิ่มเติมและก่อตั้งแบรนด์ นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าประเภท ท่อร้อยสายไฟ รางเก็บสายไฟ ตู้กันน้ำ กล่องกันน้ำ แผงไฟฟ้าพลาสติก ตู้คอนซูมเมอร์ สวิตซ์-เต้ารับ ฯลฯ ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์มาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดรับกับทิศทางการดำเนินธุรกิจหลักที่ปรับเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้นจึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัท จากเดิมคือ บริษัท บางบอน พลาสติค กรุ๊ป จำกัด เป็น บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้คอนเซปต์ “ครบเครื่องเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์พลาสติกก่อสร้าง”

นายภัทร กล่าวถึงเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อบริษัทครั้งนี้ด้วยว่า เป็นผลมาจากการที่บริษัท ต้องการสะท้อนตราสินค้าผ่านชื่อบริษัท เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไป รวมทั้งลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์เกิดการจดจำแบรนด์ นาโนฯ ได้ง่ายมากขึ้น และปรับกลยุทธการตลาดใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเซกเมนต์ ด้วยผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการผลิตของบริษัทเอง

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังอีกว่า บริษัทได้วางแผนการตลาด เดินเกมรุกเจาะกลุ่มเซกเมนต์ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มที่ในปีนี้ โดยได้เตรียมขยายพื้นที่การผลิตสินค้าและโกดังสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ตารางเมตร

ทั้งเพิ่มกำลังการผลิตโดยสั่งซื้อเครื่องจักรที่มีคุณภาพ จากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน รวมคิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท และเพิ่มทีมเจ้าหน้าที่บริหารงานขายโครงการที่มากด้วยประสบการณ์ รวมถึงเข้าเป็นพาร์ทเนอร์กับสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.), สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA), สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย (TEMCA) และช่องทางการประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์อื่นๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มการโปรโมทและสร้างแบรนด์ดิ้งซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจระยะยาว

สำหรับช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – เมษายน 2565) บริษัทสามารถสร้างยอดขายรวมมากถึง 435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า พร้อมตั้งเป้าหมายทำรายได้ 1,500 ล้านบาท ภายในปี 2565

โดยภาพรวม บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทได้ปรับกลยุทธทางการตลาดทั้ง Offline และ Online เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งได้มีการพัฒนาระบบ IT และระบบ Logistics เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่มากยิ่งขึ้น

ทำให้บริษัทฯมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดการให้บริการและปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์พลาสติกก่อสร้างมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ 70%  จะมาจากกลุ่ม Traditional Trade ซึ่งเป็นร้านค้าชั้นนำในพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศที่เชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและราคาที่สมเหตุสมผลของแบรนด์นาโนฯ และสัดส่วน 15% จะมาจากผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จากภาคเอกชนชั้นแนวหน้าที่มีชื่อเสียง อาทิ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน), บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน), บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน), บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน), บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) และผู้พัฒนาอสังหาฯรายอื่นๆ รวมถึงงานโครงการของภาครัฐอีกด้วย

ส่วนรายได้อีก 10% ของบริษัทจะมาจากร้านค้าและผู้ประกอบการในต่างประเทศ และรายได้ส่วนสุดท้ายมาจากช่องทาง Modern Trade และแพลตฟอร์มออนไลน์

ปัจจุบันทางบริษัทมีสินค้ากว่า 3,000 แบบ ที่ได้รับมาตรฐานสินค้ามากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มอก., JIS, BSEN, UL, CE, IEC อีกทั้งเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลทางบริษัทได้มีการส่งขอใบมาตรฐานเพิ่มเติม การันตีด้วยการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand หรือ MiT) ซึ่งภาครัฐได้ให้ความสำคัญและผลักดัน จัดสรรงบประมาณสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในประเทศเพื่อใช้เป็นพัสดุในงานโครงการที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้าง

ทั้งนี้ บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด ยังได้รับการคัดเลือก ให้เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ขององค์กรภาครัฐระดับประเทศอย่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้มีการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ (Business to Governance หรือ B2G) อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้การรับรองดังกล่าวยังเพิ่มความเชื่อมั่นและโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าให้แก่คู่ค้า-ผู้บริโภคอีกด้วย

Exit mobile version