Onlinenewstime.com : ทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการวางอนาคตของประเทศ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป จะต้องอาศัยการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพและการแข่งขันของไทย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาบีโอไอให้การอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,572 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 511,900 ล้านบาท
โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 768 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 49 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 315,620 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น
การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 60,300 ล้านบาท มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น
โครงการโปรตีนแอนติเจนและโปรตีนแอนติบอดีตัดแต่งพันธุกรรม โครงการผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดเพื่อการรักษาโรคในกลุ่ม Car T Cell โครงการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โครงการ Vaccine, Monoclonal Antibody Drug, Therapeutic Protein โครงการวิจัยและพัฒนาด้านหัวเชื้อยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ เป็นต้น
สำหรับในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มีจำนวน 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,150 ล้านบาท มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการประกอบหุ่นยนต์ Parallel Link Robot โครงการระบบเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
ในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีจำนวน 99 โครงการ เงินลงทุนรวม 32,520 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัลมีจำนวน 120 โครงการ เงินลงทุนรวม 5,210 ล้านบาท มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ AI (Artificial Intelligence) และ ML (Machine Learning) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ จากการสำรวจความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 เพื่อประเมินผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในหลายด้าน พบว่า โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 842,603 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าประมาณ 372,959 ล้านบาท
โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ในปี 2564 ช่วยสร้างงานให้คนไทย 113,562 ตำแหน่ง โดยโครงการในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการจ้างงานเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 40 ของการจ้างแรงงานไทย หรือมีการจ้างงานประมาณ 45,081 ตำแหน่ง รองลงมา คือหมวดอุตสาหกรรมเบา คิดเป็นร้อยละ 20 หรือประมาณ 22,662 ตำแหน่ง และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 14 ของการจ้างแรงงานไทย หรือประมาณ 15,923 ตำแหน่ง
โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ และมีการจ้างแรงงานจำนวนมาก ในปี 2564 อยู่ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ผลิตสินค้ามีการลงทุนและปรับเปลี่ยนสายการผลิตใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นฐานผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนยังมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ มูลค่าประมาณ 711,335 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด โดยโครงการในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จะใช้วัตถุดิบในประเทศมากเป็นอันดับ 1 มูลค่าประมาณ 282,126 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 74 ของมูลค่าการใช้วัตถุดิบทั้งหมด รองลงมาเป็นหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ประมาณ 164,697 ล้านบาทต่อปี และหมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะใช้วัตถุดิบในประเทศ 93,786 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในหลายด้าน โดยในด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุนทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 480,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานจากการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบในประเทศ ก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต