Onlinenewstime.com : นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ออก “กฎกระทรวงกําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563” ส่งผลให้มีการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่าย ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตราฝ่ายละร้อยละ3 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564)
ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตน
นายทศพลฯ ได้ชี้แจงว่า ในการจ่ายเงินสมทบอัตราใหม่ นั้น ตั้งแต่วันนี้ (1 มกราคม 2564) นายจ้าง ผู้ประกันตน สามารถชำระเงินสมทบอัตราใหม่ผ่านช่องทางต่างๆได้แล้ว ดังนี้
สำหรับผู้ประกันตน มาตรา33 นายจ้างสามารถชำระเงินสมทบผ่านช่องทางเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต
ในส่วนการจ่ายเงินสมทบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ e-Payment นายจ้างสามารถชำระเงินสมทบผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ ธนาคารมิซูโฮ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส (ด้วยบัตรเดบิต/เครดิต มาสเตอร์การ์ด) และธนาคารทหารไทย (ช่องทาง NSW) และสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ใช้บริการหักบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพนั้น ทุกหน่วยบริการพร้อมให้บริการหักบัญชีอัตโนมัติในรอบตัดบัญชีวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 และยังสามารถชำระเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ
อีกทั้งยังสามารถชำระเงินสมทบอัตราใหม่ผ่านช่องทางเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่นอีเลฟเว่น ) เคาน์เตอร์บิ๊กซี เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทยส่วนเคาน์เตอร์เทสโก้โลตัสจะเริ่มให้บริการในวันที่ 7 มกราคม 2564 เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะเริ่มให้บริการในวันที่ 15 มกราคม 2564 เคาน์เตอร์ธนาคารธนชาตจะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้คาดว่าการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตนในการจ่ายเงินสมทบลดลงรวมจำนวน 15,660 ล้านบาท สมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติรวมไปถึงนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลบริการและสิทธิประโยชน์ของวัยแรงงานทุกกลุ่มทุกวัย