Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ประกาศใช้ ม.44 ให้วัดธรรมกาย และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมาย

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา  (16 ก.พ. 60) เมื่อเวลา 01.00 น. เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

ตามที่ได้ปรากฏว่า มีบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม มีข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ของสังคมและบ้านเมือง ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าว นำไปสู่การออกหมายตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาแล้ว แต่มิได้ให้ความร่วมมือ ในการปฏิบัติตามหมายของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้ว

แต่กรณี ทั้งยังมีการขัดขวาง ปิดบัง ซ่อนเร้น ตลอดจนปิดกั้นพื้นที่ มิให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้ และการขัดขวางดังกล่าว ยังขยายอาณาบริเวณกว้างขวาง หรือมีกลุ่มคนจำนวนมาก เข้ามาสมทบหรือชุมนุมกัน จนน่าวิตกว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เป็นเหตุให้การบังคับใช้กฎหมายไม่บรรลุผล และทำลายความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม

จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการ ให้อำนาจในการควบคุมพื้นที่ ขึ้นเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง รวมทั้งเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในคำสั่งนี้

“พื้นที่ควบคุม” หมายความว่า พื้นที่ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีความชัดเจนและครอบคลุมพื้นที่ เท่าที่จำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับการร้องขอจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการสนธิกำลังหรือสนับสนุนช่วยเหลือ ในการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

ข้อ 2 เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ หรือเหตุจำเป็นต้องมีการควบคุมพื้นที่ ในบางเขตบางพื้นที่เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดำเนินการตามคำสั่งนี้ ได้ตามความจำเป็นแห่งเหตุหรือสถานการณ์นั้น

เมื่อสถานการณ์หรือความจำเป็นสิ้นสุดลงแล้ว ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศยกเลิกการกำหนดพื้นที่ควบคุมนั้นประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมตามวรรคหนึ่ง และประกาศยกเลิกการกำหนดพื้นที่ควบคุมตามวรรคสอง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการภายในพื้นที่ควบคุม ดังต่อไปนี้

(1) ควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่

(2) สั่งให้บุคคลใดออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด หรือสั่งให้บุคคลใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย หรือให้งดเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

(3) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

(4) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดอาญาซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

(5) ดำเนินการเพื่อควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร การใช้อากาศยานไร้คนขับตลอดจนกำหนดมาตรการ และดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย

(6) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ

(7) รื้อถอน ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น

(8) ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นตามสมควรแก่กรณี

ข้อ 4 ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ และให้มีอำนาจร้องขอให้หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ในกรณีจำเป็น อาจร้องขอให้พระสังฆาธิการ ผู้ปกครองสงฆ์ และภิกษุอื่นที่เกี่ยวข้อง อนุเคราะห์ให้การปฏิบัติงาน ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยเรียบร้อย ตามกฎหมายและพระธรรมวินัยด้วยก็ได้ เมื่อได้รับการร้องขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ได้รับการร้องขอดำเนินการให้เป็นไปตามคำร้องขอในทันที หรือภายในระยะเวลาที่กำหนด

ข้อ 5 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ 6 ผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามคำสั่งนี้ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 7 การกระทำตามคำสั่งนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ข้อ 8 ให้นำมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งนี้

ข้อ 9 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสำหรับความผิด ที่ได้มีการออกหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ เมื่อคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้วัดพระธรรมกายตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมถึงพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 หมู่ 12 และหมู่ 13 ในตำบลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 และหมู่ 11 ในตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งนี้

ข้อ 10 เมื่อเหตุการณ์และความจำเป็นสิ้นสุดลง หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยกเลิก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ 11 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

Exit mobile version