www.onlinenewstime.com : ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ชะลอตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในปี 2563 คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3.3
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบ จากสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อภาคการส่งออก สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยประคองกำลังซื้อภาคครัวเรือน (2) การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน รองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจากต่างประเทศ (Thailand Plus Package) ส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน (3) การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะชะลอตัว แต่ได้รับการชดเชยจากนักท่องเที่ยวโซนเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ (4) ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก กลับมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น (5) การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นในการเจรจาเขตการค้าต่างๆได้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ได้แก่ (1) การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง (3) ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น จากความไม่สงบในตะวันออกกลางส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ (4) กระบวนการตรวจรับและเบิกจ่ายที่ล่าช้า ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่อาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (5) สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในตะวันออกกลางกรณีอิหร่านและสหรัฐอเมริกา, ความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน เป็นต้น ซึ่งหากการเจรจาไม่สำเร็จ อาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นได้
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีแนวโน้มด้อยลง จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลง จากการเกินดุลการค้า และดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุลน้อยลง ประกอบกับเงินบาท ที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สำหรับการกู้ร่วม เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แรงกดดันจากความเสี่ยงการชะลอตัว ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชัดเจนขึ้น