fbpx
News update

ประมาณการ GDP ไทย 2562 ร้อยละ 3.6 ชะลอตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

onlinenewstime.com : ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยข้อมูล ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นผลกระทบ จากสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าและบริการ ประกอบกับหนี้ครัวเรือน ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีปัจจัยสนับสนุนจาก

  1. สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
  2. การลงทุนภาคเอกชน ยังคงขยายตัวได้ จากความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ  (FDI)  ประกอบกับตัวเลขส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  3. มาตรการพยุงเศรษฐกิจ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงิน ลงสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยประคองกำลังซื้อของภาคครัวเรือน
  4. อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัว อยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง เป็นผลดีต่อต้นทุนทางธุรกิจ
  5. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ

หมายเหตุ : F หมายถึง ข้อมูลที่ประมาณการโดยศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน (ณ พฤษภาคม 2562 )
ข้อมูลจริงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ได้แก่

  1. ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างต่อเนื่องเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าและบริการ
  2. การใช้จ่ายของภาครัฐอาจต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการเบิกจ่าย และการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่อาจไม่เป็นไปตามแผน
  3. เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง กระทบต่อกำลังซื้อ ของชาวจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อหลัก ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ระดับ Hi-End มีแนวโน้มลดลง
  4. หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ มีแนวโน้มด้อยลง ส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน
  5. เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีแนวโน้มด้อยลง จากการเกินดุลการค้า และดุลบริการที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ชะลอตัวจากราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลง ตามกำลังซื้อภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อประคองเศรษฐกิจ ให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macro Prudential) และมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Micro Prudential)

รวมทั้งมาตรการดูแลการแข็งค่าของเงินบาท ด้วยการลดปริมาณการขายพันธบัตรระยะสั้น ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะสามารถดูแลในจุดที่มีความเปราะบาง ทำให้เศรษฐกิจ สามารถขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ในระยะยาว ภายใต้แรงกดดัน จากความเสี่ยงการชะลอตัว ของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

โฮมเพจ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน