งานวิจัยของ “เอคเซนเชอร์” (ACN) บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ดิจิทัล การบริหารเทคโนโลยีและการปฏิบัติการของโลก ระบุมี 40ปัจจัยในที่ทำงานที่ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค ในจำนวนนี้มี 14 ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง รายงานฉบับนี้คือ “Getting to Equal 2018” ซึ่งได้ให้คำแนะนำที่ผู้บริหารสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการเร่งพัฒนาองค์กร พร้อมทั้งเติมเต็มช่องว่างความไม่เท่าเทียมด้านค่าตอบแทนระหว่างเพศ (gender pay gap)
งานวิจัยชิ้นนี้สำรวจข้อมูลจากคนทำงานชายและหญิง กว่า 22,000 คนใน 34 ประเทศ เพื่อประเมินว่าคนกลุ่มนี้มีมุมมองต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมในองค์กรอย่างไร
นอกจากนี้ การสำรวจยังได้ข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องคนทำงาน ที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่มีวัฒนธรรมในการทำงานที่ช่วยส่งเสริมผู้หญิงให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับผู้ชาย จะทำให้พนักงานทุกคนและองค์กรก้าวหน้าไปด้วยกัน
“งานวิจัยนี้ จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจอันทรงพลัง ให้เราเห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาคเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนคือส่วนที่ทำให้องค์กรหลอมรวมเป็นหนึ่งและมีความหลากหลาย”
นางสาวอินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า
งานวิจัยของเอคเซนเชอร์ยังพบอีกว่า ในองค์กรมีปัจจัยร่วมบางประการ ที่เสริมสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกคน เช่น:
- 98% ของพนักงานพึงพอใจกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- 90% ของพนักงานล้วนมุ่งมั่นปรารถนาที่จะได้เลื่อนตำแหน่ง
- 80% มุ่งมั่นปรารถนาที่จะเป็นผู้บริหารระดับอาวุโสในองค์กร
นอกจากนี้ พนักงานยังมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้น โดย:
- 42% ของผู้หญิงมีโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่งในระดับผู้จัดการหรือสูงกว่านั้น และมีโอกาสถึง 5 เท่าที่อาจจะได้เลื่อนตำแหน่งไปสู่ระดับผู้จัดการอาวุโส/ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งที่สูงกว่านั้น
- 20% ของผู้ชายมีโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่งในระดับผู้จัดการหรือสูงขึ้นกว่านั้น และมีโอกาสถึง 2 เท่าที่อาจจะได้เลื่อนตำแหน่งไปสู่ระดับผู้จัดการอาวุโส/ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งที่สูงกว่านั้น
ในขณะที่ทั้งหญิงและชายเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ โดยมีปัจจัยร่วมในองค์กรบางประการที่เหมือนกัน ผู้หญิงดูจะได้ประโยชน์มากที่สุด หากองค์กรต่างๆ มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีปัจจัยร่วมเหล่านั้น เนื่องจาก:
- เมื่อเทียบกับผู้จัดการชาย 100 คน ผู้จัดการเพศหญิงอาจเพิ่มสัดส่วนเป็น 87 คน จากปัจจุบันที่ 100: 65
- ค่าตอบแทนของผู้หญิงอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 52% หรือมากกว่านั้น คิดเป็นอีกประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
- ผู้หญิงอาจจะมีรายได้ 94 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับชายที่มีรายได้ 100 เหรียญสหรัฐฯ นับเป็นการเติมเต็มช่องว่าง และยกระดับรายได้ของผู้หญิงทั่วทั้งสหรัฐฯ ได้ถึง 202 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
งานวิจัยนี้ยังพบว่า การวางเป้าด้านความเสมอภาคในองค์กรไว้อย่างชัดเจน จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับผู้บริหาร ในการเสริมสร้างให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่งขึ้น
“วัฒนธรรมในองค์กรมีการวางแนวทางมาจากระดับบริหาร ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์กับความเสมอภาคทางเพศเป็นอันดับต้น ๆ การที่บริษัทมีสภาพแวดล้อมที่มีมนุษยธรรมและคำนึงถึงพนักงานอย่างแท้จริง เป็นที่ ๆ ทุกคนประสบความสำเร็จได้ ทั้งด้านอาชีพและชีวิตส่วนตัว เป็นที่ ๆ พนักงานสามารถเป็นตัวของตัวเองและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในทุก ๆ วันที่มาทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก” นางสาวอินทิรากล่าว
รายงานนี้ ต่อยอดจากงานวิจัยในปี 2560 ของเอคเซนเชอร์ ซึ่งศึกษาว่าความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางเพศในที่ทำงานได้อย่างไร โดยรายงานฉบับนี้ ได้จัดกลุ่มปัจจัยสำคัญ 14 ประการที่พบว่ามีอิทธิพลต่อความเจริญก้าวหน้าในที่ทำงาน ไว้เป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ ภาวะผู้นำที่เด็ดเดี่ยว การมีส่วนร่วม และ สภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาส ทั้งนี้ ผลการวิจัยในตลาดสหรัฐฯ พบว่า:
- ภาวะผู้นำที่เด็ดเดี่ยว (Bold leadership): ผู้หญิงมีโอกาสเพิ่มขึ้นสองเท่า และอาจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในองค์กรที่มีเป้าหมายด้านความหลากหลายทางเพศชัดเจน (19% เทียบกับ 10%)
- การมีส่วนร่วม (Comprehensive action): การมีส่วนร่วมในเครือข่ายแวดวงผู้หญิงด้วยกัน มีส่วนสัมพันธ์กับความก้าวหน้าของผู้หญิง อย่างไรก็ดี ผู้หญิงส่วนใหญ่ (81%) ที่ได้สำรวจในรายงาน อยู่ในองค์กรที่ไม่มีเครือข่ายลักษณะดังกล่าว ส่วนองค์กรที่มีเครือข่ายพนักงานหญิง ก็พบว่า มีผู้หญิงสัดส่วน 6 ใน 10 (62%) ที่ร่วมทำงานกับเครือข่าย โดยมากกว่า 2 ใน 3 (69%) ที่อยู่ในเครือข่ายเผยว่า เป็นเครือข่ายที่รวมผู้ชายอยู่ด้วย
- สภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาส (An empowering environment): ในบรรดาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในงานนั้น ไม่มีปัจจัยใดเป็นการบังคับให้พนักงานต้องแต่งกายตามที่กำหนด แต่เป็นการมอบความรับผิดชอบและอิสระให้ทุกคนได้สร้างสรรค์และคิดค้นสิ่งใหม่