fbpx
News update

ปลดล็อค 4 ธุรกิจ ออกจากบัญชีท้ายฯ ลดอุปสรรคด้านการลงทุน

www.onlinenewstime.com : กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ เตรียมปลดล็อก 4 ธุรกิจ ออกจากบัญชีสามท้าย พ.ร.บ ต่างด้าวฯ คาดดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าไทยเพิ่มขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแลของภาครัฐ ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าลงทุน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) ได้มอบหมาย ให้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจ ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน 2562

โดยผลของการประชุมฯ เบื้องต้น เตรียมเสนอคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปลดล็อค 4 ธุรกิจ ออกจากบัญชีท้ายฯ ได้แก่

1) ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 (ไม่มีโครงข่าย)

2) ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center)

3) ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทสอง สำหรับบำรุงรักษา ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และประเภทสาม สำหรับบำรุงรักษาบริภัณฑ์และชิ้นส่วนของอากาศยาน ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ

4) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติ ลดภาระค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และลดความยุ่งยากซ้ำซ้อน ในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็ว และความคล่องตัว ด้านการประกอบธุรกิจในประเทศไทย

สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ในการประกอบธุรกิจช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ ให้สนใจเข้ามาลงทุนส่งเสริมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น”

“ธุรกิจท้ายบัญชี 3 ที่กระทรวงฯ เตรียมถอดออกนั้น ส่วนหนึ่ง เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับอยู่แล้ว จึงเป็นการลดความซ้ำซ้อน ในการกำกับดูแลของภาครัฐ เช่น ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดย กสทช.

และ ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำหนดว่า ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลัง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด

รวมถึง ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยานฯ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 โดย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)”

รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “ทั้ง 4 ธุรกิจ เป็นธุรกิจที่สอดคล้อง กับสภาพการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และคนไทยมีความพร้อม ในการแข่งขันการประกอบธุรกิจกับคนต่างชาติ อีกทั้งเห็นว่า การเปิดเสรีในธุรกิจดังกล่าว จะเป็นการดึงดูดให้บริษัทต่างชาติ เข้ามาตั้งศูนย์การพัฒนาและซ่อมบำรุงในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนไทย

ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นการสร้างโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ซึ่งจะสามารถยกระดับขีดความสามารถ ทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระดับสากล

รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “นอกจากนี้ ยังเป็นธุรกิจ ที่สอดคล้องกับสภาพการทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง จะสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ของประเทศ

ประเภทอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ด้านการบินและโลจิสติกส์ (ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน) และด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล (ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์) ดังนั้น การปลดล็อก 4 ธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลทั้ง Thailand Plus Package และ Thailand 4.0

โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติ ในการประกอบธุรกิจ พร้อมลดอุปสรรคด้านการลงทุน ทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าเดินทางเข้ามาลงทุนเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียและของโลก อีกทั้ง ลักษณะของภูมิประเทศ และชัยภูมิ ที่เหนือกว่าประเทศอื่น และมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประเทศไทย สามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ไม่ยาก”