fbpx
News update

ปัญหาจากการนอนหลับแบบไหน ควรตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

Onlinenewstime.com : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะหากพบปัญหาจากการนอนหลับ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อรับคำแนะนำ วินิจฉัยโรค และตรวจการนอนหลับ เพื่อการนอนหลับที่ดีซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอกจากการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และอารมณ์ที่ดีแล้ว หนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การนอนหลับ

ระยะในการนอนหลับที่เพียงพอในผู้ใหญ่ ต้องนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในบางรายพบว่าอาจมีอาการ เช่น เพลียเมื่อตื่นมาตอนเช้า รู้สึกนอนไม่อิ่ม ไม่สดชื่น อ่อนล้า ง่วงนอนตลอดเวลา ทั้งที่นอนอย่างเพียงพอแล้ว ปัญหาการนอนหลับสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย

โดยเราสามารถสังเกตอาการ ด้วยตนเอง หรือสอบถามผู้ที่นอนร่วมกับเรา ว่ามีอาการผิดปกติขณะนอนหลับหรือไม่ เช่น นอนกรนดังผิดปกติ หยุดหายใจขณะหลับ สะดุ้งเฮือก สำลักน้ำลาย นอนกัดฟัน นอนละเมอ ส่งเสียงร้อง แขนขากระตุก เป็นต้น

หากพบว่ามีปัญหาและอาการดังกล่าว แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อรับคำแนะนำและวินิจฉัยโรคจากการนอนหลับ เพราะปัญหาการนอนหลับมีผลต่อสุขภาพทั้งโรคทางกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตใจ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ บนท้องถนนและ การทำงานได้

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาโรคจากการนอนหลับโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มโรค

  1. โรคนอนไม่หลับ (insomnia)
  2. โรคการหายใจผิดปกติขณะหลับ (sleep related breathing disorders)
  3. โรคนอนละเมอ (parasomnias)
  4. โรคการเคลื่อนไหวผิดปกติขณะหลับ (sleep related movement disorders)
  5. ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน (central disorders of hypersomnolence)
  6. ความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm sleep-wake disorders)

สำหรับการตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจบันทึกลักษณะทางสรีรวิทยาหลายสัญญาณในขณะหลับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาหนึ่งคืนในการตรวจ โดยให้ผู้ป่วยนอนหลับเหมือนกับนอนปกติ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคจากการหลับ เช่น โรคการหายใจผิดปกติขณะหลับ โรคนอนละเมอ ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เป็นต้น

เพื่อประเมินระดับความรุนแรง การวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่น ชี้แนะแนวทางการรักษา ตลอดจนติดตามผลการรักษา เพื่อการวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

หากตรวจแล้วพบว่าคนไข้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) แพทย์จะพิจารณารักษาตามระดับความรุนแรงของโรคและโรคร่วม โดยมีวิธีการรักษา OSA หลักๆ ดังนี้

1. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา

2. การใส่ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) โดยทันตแพทย์จะทำการประดิษฐ์ให้เหมาะสมสำหรับคนไข้ในแต่ละราย หลักการทำโดยดึงกรามล่างและลิ้นมาข้างหน้า เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง หายใจสะดวกขึ้น

3. การผ่าตัดในคนไข้ที่มีปัญหาโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทางหู คอ จมูก ประเมินก่อนว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมที่จะผ่าตัดหรือไม่ อย่างไร

และในกรณีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับรุนแรงมากและมีโรคอ้วน ในระดับสากลโดยมีดัชนีมวลกาย > 40 กก./ตร.ม. หรือ ดัชนีมวลกาย > 35 กก./ตร.ม. ร่วมกับการที่มีโรคร่วมที่เกิดจากภาวะอ้วน ส่วนใน ชาวเอเชีย มีดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่าสากล

กล่าวคือ ดัชนีมวลกาย > 37.5 กก./ตร.ม. หรือ ดัชนีมวลกาย > 32.5 กก./ตร.ม. ร่วมกับการที่มีโรคร่วมที่เกิดจากภาวะอ้วน ควรปรึกษาศัลยแพทย์พิจารณาการลดน้ำหนักโดยการผ่าตัดลดความอ้วน (bariatric surgery) เพื่อลดน้ำหนักร่วมด้วย

จึงเห็นได้ว่าปัญหาการนอนหลับสามารถส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย จิตใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หากพบว่า มีอาการนอนกรนดังผิดปกติ หยุดหายใจ อาการง่วงนอนในเวลากลางวันมากผิดปกติทั้งที่นอนหลับเพียงพอแล้ว

พฤติกรรมผิดปกติในขณะนอน นอนกัดฟัน นอนแขนขากระตุก นอนละเมอ แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

ทั้งนี้สถาบันโรคทรวงอกมีให้บริการปรึกษาโรคจากการหลับทุกวัน ในเวลาทำการ 8.30 – 16.30 น. และนอกเวลาทำการ 16.30 – 19.00 น. หรือสามารถโทรสอบถามได้ที่ เบอร์ 02-547-0999 ต่อ 30512