fbpx
News update

ป้องกัน“ไข้เลือดออก”มหันตภัยเงียบ สร้างเสริมเกราะด้วยภูมิคุ้มกัน 3 ชั้น

onlinenewstime.com “โรคไข้เลือดออก” นับเป็นโรคประจำถิ่น ที่มาพร้อมกับเพชฌฆาตตัวน้อย “ยุงลาย” ที่มีอายุสั้นเพียง 7  วันเท่านั้น ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าโรคไข้เลือดออกจะมาพร้อมสายฝนในฤดูฝนใช่หรือไม่

อันที่จริงไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าฤดูไหน เพียงแค่มีน้ำขังก็เป็นแหล่งเพาะมหันตภัยตัวร้าย “ยุงลาย” พาหะนำโรคไข้เลือดออก โรคฮิต ติดชาร์ตที่พรากชีวิตประชากรโลกตลอดกาล นับเป็นภัยคุกคามที่ของเด็กและผู้ใหญ่ที่ห้ามประมาท


 นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกฤดูกาล ขอเพียงมีแหล่งน้ำขังที่สะอาดก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้

ดังนั้นในฤดูฝนจึงมีความเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น เพราะปริมาณน้ำมากทำให้เกิดแหล่งน้ำขังในหลายพื้นที่

ทั้งนี้จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคในปี 2558 มีผู้ป่วยทั่วประเทศไทย 146,082 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 155 ราย กลุ่มอายุที่พบมาก คือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10–14 ปี

สิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก คือ กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น

ซึ่งหนทางในการทางป้องกัน คือ ผู้ป่วยที่เข้าข่ายความเสี่ยงนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์”

3  การสร้างเกราะภูมิคุ้มกันไข้เลือดออก

แพทย์หญิงปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้  3  ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้น

การเสริมเกราะคุ้มกันที่ 1 นั้น ปัจจุบัน มีแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6  เดือน (0, 6,12 เดือน) แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี โดยเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี่เท่านั้น

ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่าสามารถป้องกันโรคได้ถึง 70% ซึ่งถ้าร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว ก็จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น โดยคนไทย ไม่มีความจำเป็น ที่ต้องไปตรวจเช็คก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากประเทศไทยมีไข้เลือดออกระบาดเกือบทุกปี ดังนั้นผู้ที่มีอายุเกิน 9 ปี สามารถฉีดวัคซีนได้ ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยสรุปวัคซีนไข้เลือดออก มีประสิทธิภาพที่ดีและปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับพ่อแม่หรือบุคคลทั่วไปที่จะฉีด เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก”

การเสริมเกราะคุ้มกันที่ 2 คือ การช่วยกันกำจัดทำลาย แหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ    อย่างไรก็ตาม นี่คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคไข้เลือดออก

การเสริมเกราะคุ้มกันที่ 3 คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วย เป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะไข้เลือดออกที่เป็นมากจะมีโอกาสเกิดภาวะช็อกเมื่อไข้เริ่มลด

พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรติดตามอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ซึม รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วก็ควรต้องไปพบแพทย์