www.onlinenewstime.com : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์เวบไซต์ข่าว ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ว่า เมื่อประเทศไทยจะเป็นครัวของโลก ก็ต้องมียุทธศาสตร์ในการเป็นครัวของโลก ที่สำคัญ คือการบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดี ซึ่งปัจจุบันต้องถามว่าเรามีสถานภาพเป็นอย่างไร
ในบทบาทของการเป็นคนไทยที่อยู่ในคณะกรรมการ IPCC : Intergovernmental Panel on Climate Change หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคณะกรรมการนี้ รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ไว้กว่า 200 คนทั่วโลก และยังได้มีการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับภัยพิบัติทางอากาศ น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีการประชุม 3-4 ครั้งต่อปี มีการนำกรณีศึกษา ของแต่ละประเทศมาหารือกันเป็น Case study และมีการออกรายงานทุก 7 ปี โดยฉบับล่าสุดจะออกมาในปี 2021 คืออีก 2 ปีข้างหน้า
จากการทำงานร่วมกับคณะกรรมการ IPCC ทำให้มองเห็นถึงปัญหาว่า ประเทศเรายังไม่ได้คิดวางแผนถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง และคิดว่าเป็นเรื่องระยะยาว จึงเป็นการเปิดข้อมูลความรู้ของประเทศเรา ที่คนไทยไม่รู้อีกจำนวนมาก
รศ.ดร.เสรี บอกว่า การประเมินเบื้องต้นนั้น ต้องมองประเทศไทยเรื่องความมั่นคงทางด้าน “น้ำ”และ “อาหาร” ซึ่งในขณะที่เราตั้งเป้าจะเป็นครัวของโลก จึงเป็นประเด็นว่า เราจะทำอย่างไรให้ทั่วโลกมั่นใจว่า เราจะเป็นครัวของโลกได้ จึงได้มาทำการบ้าน ใน เรื่อง “น้ำ” ที่มีการประเมินว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านน้ำต่ำ
ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดของคณะกรรมการนั้น มีการวัดใน 5 มิติของการชี้วัด “ความมั่นคงทางด้านน้ำ” ของประเทศไทย
มิติแรก คือ น้ำใช้ในชนบท เราต้องถามตนเองว่า ทุกหมู่บ้าน และตำบล มีน้ำที่สะอาดใช้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเราเห็นชัดว่า ชาวบ้านหลายแห่ง ขาดแคลนน้ำที่สะอาด เช่นที่จังหวัดน่าน เราพบว่ามียาฆ่าแมลง ปนเปื้อนในแม่น้ำน่าน ซึ่งชาวบ้านใช้ในการบริโภค นั่นหมายถึงมิตินี้ประเทศเราสอบตก น้ำไม่มีทั่วถึงในชนบท
มิติที่ 2 คือ การใช้น้ำในเมือง เมืองใหญ่ๆ เช่น ระยอง ชลบุรี พัทยา กรุงเทพมหานคร มีน้ำอุปโภค บริโภค พอเพียงหรือไม่ และสะอาดขนาดไหน สำหรับมิตินี้ได้คะแนนเสมอตัว คือน้ำพอเพียง แต่คุณภาพยังไม่ได้
มิติที่ 3 คือ น้ำทางด้านสิ่งแวดล้อม มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมบ้างหรือไม่ ซึ่งเราก็จะสังเกตเห็นว่า สภาพคลองของบ้านเราเป็นอย่างไร ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นำมาประเมินทั้งหมด
มิติที่ 4 คือ ด้านการเกิดอุทกภัย และภัยแล้ง เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เราสามารถกลับสู่สภาวะปกติ ได้เร็วขนาดไหน เช่น กรณีน้ำท่วมปี 2554 เศรษฐกิจของเราเสียหายไปถึง 3.4 ล้านล้านบาท กว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ ก็ใช้เวลา
มิติที่ 5 คือ น้ำเพื่อการเศรษฐกิจ เช่น น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม และน้ำเพื่อพลังงาน มีการประเมินเช่นกัน เช่นการเกษตรในหลายพื้นที่ น้ำไม่พอเพียง ข้าวนาปรังทำไม่ได้ สิ่งนี้ก็เป็นประเด็น
สรุปภาพรวมประเทศไทย จึงได้รับการประเมินในภาพรวมที่คะแนน 2 จากคะแนนเต็ม 5 แสดงให้เห็นว่าการจัดการ เป็นเรื่องที่สำคัญ
ฝนตกหนักแต่ทำไมเกิดภัยแล้ง?
รศ.ดร.เสรี บอกว่าปี 2562 นี้ก็เป็นปีหนึ่ง ที่มีการขาดน้ำอย่างมากทั่วทุกภาค จึงแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า ปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องของ “การจัดการ” และ “น้ำสะอาด” ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก จึงเป็นที่มาของการประเมินจาก IPCC ว่าประเทศไทยมีความไม่มั่นคงทางอาหารตามมาด้วย
IPCC ตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยจึงเกิดภัยแล้ง? ทั้งที่ในฤดูฝนมีปริมาณฝนตกหนักมาก
แต่เมื่อหน้าแล้ง ก็มีภัยแล้งตามมา เป็นที่มาของการศึกษาใน 3 องค์ประกอบหลักที่นำมาสู่สถานการณ์ภัยแล้ง
1. ภัยคุกคาม เช่น ฝนเป็นอย่างไร เนื่องจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ประเทศไทย ที่อยู่ในแถบศูนย์สูตรนั้น มีปริมาณฝนมากขึ้น เมื่อประเมินจากปริมาณฝนแล้วนั้น ภัยคุกคามเรื่องภัยแล้งของไทย อยู่ในระดับต่ำเพราะปริมาณฝนดี
2. ความเปราะบาง เช่น การจัดการ ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ ทำให้เกษตรกรทำในสิ่งที่เคยทำมา ปลูกในเวลาเดิมๆที่เคยทำทุกปี ทำนาในที่ดอน ที่สูง ขาดการวางแผนผลผลิต เพื่อมาป้อนตลาดให้ตรงความต้องการ การประเมินที่ดินที่มีศักยภาพในการเพาะปลูก ซึ่งองค์ประกอบด้านการจัดการนี้ ประเทศไทยถูกประเมินว่า มีความเปราะบางสูงมาก
3. ความล่อแหลม เช่น จังหวัดที่มีแหล่งน้ำน้อย แต่กลับมีกิจกรรมส่งเสริม ให้คนย้ายเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง การสร้างโครงการ เช่น EEC ที่ทำให้บางพื้นที่กลายเป็นเมือง หากไม่มีการวางแผนที่ดี ทำให้เกิดชุมชน มีคนย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมาก ในพื้นที่แหล่งน้ำจำกัด สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน จึงทำให้ประเทศไทยมีความล่อแหลมสูง
เมื่อนำ 3 องค์ประกอบมารวมกัน ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงเรื่องน้ำแล้ง ให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ฝนดีแต่มีปัญหาเรื่องการจัดการ จึงทำให้เกิดภัยแล้ง ขาดน้ำ
ในจุดนี้ก็ต้องกลับมาแก้ไขที่ 2 องค์ประกอบ ทั้งเรื่องของความเปราะบางและความล่อแหลม ซึ่งก่อปัญหาให้ประเทศไทยต้องเผชิญต่อภัยแล้ง
สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดไปสู่คนอีกรุ่นที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
เพราะแนวโน้มผลกระทบ ที่ส่งผลต่อโลกและประเทศไทย จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ เกิดปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิสูงขึ้นมาแล้ว เฉลี่ย 1 องศา จาก 30 ปีที่แล้ว ซึ่งค่าสูงสุดที่วัดได้ จากค่าเฉลี่ย บางที่สูงถึง 4 องศา
เพราะฉะนั้น ในจังหวะที่ร้อนที่สุด“พืช”ก็ทนไม่ได้เพราะอุณหภูมิสูงมาก และเมื่อเป็นประเด็นว่าโลกร้อนขึ้น น้ำที่มีอยู่ก็ระเหยไป น้ำในหน้าแล้งจะระเหยมาก แต่การระเหยของน้ำ ไม่ได้ไปไหน อยู่ในชั้นบรรยากาศ รอจนหน้าฝน มีความเย็นมา ก็จะตกหนัก นั่นหมายความว่า ในฤดูฝนพื้นที่ๆเคยตกหนัก ก็จะหนักมาก และในฤดูแล้งพื้นที่ๆเคยแล้งหนัก ก็จะหนักมาก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รศ.ดร.เสรี บอกว่า จากข้อมูลที่มีการคาดการณ์ประเทศไทยว่า จะต้องเผชิญทั้งฝนตกหนักและภัยแล้งนั้น เราจึงต้องมาประเมินกันในพื้นที่ 77 จังหวัดว่า มีลักษณะแบบนี้ที่ใดบ้าง และมีความรุนแรงขนาดไหน เพื่อที่จะได้กำหนดยุทธศาสตร์ ส่งเสริมให้ถูกต้องและแม่นยำ เช่น กรณีโคราช ถ้าไปส่งเสริมให้เป็นที่ปลูกข้าว ก็จะเหนื่อย เพราะว่าเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนน้ำไม่ดี ลักษณะพื้นที่ดอน แห้งแล้ง ร้อนจัด ซึ่งมีความสำคัญมาก ที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร
สำหรับอนาคตข้างหน้า “ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” จะกลายเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อสภาพบ้านเรา ต่อเจเนอเรชั่นหลังๆ
เราหนีเหตุการณ์นี้ไปไม่พ้นแน่นอน มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจะแก้ไขนั้นต้องปรับที่ 2 องค์ประกอบ คือ ความเปราะบาง กับความล่อแหลมนั้นให้ดีขึ้น
แน่นอนว่าเราเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรกับภัยคุกคาม ซึ่งเป็นองค์ประกอบแรกไม่ได้ เนื่องจากเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก สำหรับชุมชนเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่า ในปัจจุบันนี้ฝนตกในเวลาไม่นาน ก็ทำให้เกิดน้ำท่วม นั่นแสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ก่อนฝนตกเท่านี้ เราอาจจะรับได้ แต่วันนี้ ฝนตกในเวลาจำกัด คือหมายถึงความเข้มของฝน ตกมานิดเดียวก็รับไม่ได้
นั่นเป็นเพราะปัจจัยแรก คือ การใช้พื้นที่ของเมืองเปลี่ยนแปลงไป สภาพการใช้ที่ดินจากพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นดินว่างเปล่า เปลี่ยนมาเป็นถนนคอนกรีต ยางมะตอย บ้านจัดสรร เป็นพื้นที่แข็ง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้น ทำให้อากาศร้อนและอบขึ้น เมื่อร้อน อบ น้ำที่ระเหยไปในอากาศก็มากขึ้น เมื่อมีความเย็นมา ก็จะตกเป็นฝนที่หนัก
นี่คือการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ สิ่งที่ต้องดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์คือ ต้องทำให้กรุงเทพฯมีพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่สีเขียว ให้มากขึ้น เพื่อเป็นที่ดูดซับน้ำ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องมองไปในระยะยาว ที่ต้องอธิบายและปลูกฝัง ไปถึงเจนฯต่อๆไป
เพราะว่าอีก 30-40 ปีข้างหน้า จะเจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไม่รู้ และไม่แก้ไขตั้งแต่วันนี้จะหนักขึ้นแน่ ๆ
ผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน
นอกจากภัยแล้งแล้ว อีกปรากฏการณ์ที่ต้องจับตานั้น รศ.ดร.เสรี บอกว่า ในขณะที่ อุณหภูมิสูงขึ้น ก็ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 3 มม.ต่อปี แต่จะมีอัตราเร่งมากขึ้น
ในปี 2100 หรือประมาณ 80 ปีข้างหน้า IPCC คาดการณ์ไว้ว่า ระดับน้ำทะเลจะเฉลี่ยสูงขึ้น ประมาณ 1 เมตร แต่ระดับน้ำสูงขึ้นที่รุนแรง จะไปได้ถึง 2.50 เมตร เราจึงต้องมาศึกษาหาวิธีว่า ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปถึง 2.50 เมตรแล้วกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร
เพราะตัวเลขของกรุงเทพฯขณะนี้ สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1.50 เมตรโดยเฉลี่ย ถ้าน้ำสูงขึ้น 2.50 เมตร กรุงเทพฯก็จมน้ำ
ตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่ชี้ชัด ซึ่งวันนี้เราไม่มียุทธศาสตร์ ในการป้องกันกรุงเทพฯจากน้ำทะเล สิ่งนี้ขาดไปได้อย่างไร เราจึงต้องใส่ใจ และนำมาปลูกฝังให้คนรุ่นต่อไปรีบป้องกัน ปัจจุบันสังเกตเห็นได้แล้วว่า ชายฝั่งบางขุนเทียนหายไปทุกๆปี เพราะยังไม่มีแผนป้องกัน
ภัยแล้งปีนี้
เป็นปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นกับปรากฎการณ์เอลนินโญ่ ซึ่งวันนี้เกิดขึ้นในระดับต่ำถึงปานกลาง ไม่มีความรุนแรงเท่าปี 2558 – 2559 เรียกว่า ภัยคุกคามจึงไม่ได้รุนแรงมาก
แต่ความเสียหายจากภัยแล้งปีนี้ กลับรุนแรงมากกว่า ที่ต่างกันเพราะปี 2558 – 2559 มีการออกมาตรการห้ามปลูกนาปรัง ในขณะที่ปีนี้ไม่ได้มีมาตรการเหล่านี้ออกมา จึงมีการปลูกจำนวนมาก ความต้องการน้ำก็สูงตามไปด้วย ความเสียหายจึงรุนแรงกว่า
เพราะโดยปกติประเทศไทย ใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากกว่า 70% ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด สาเหตุจึงมาจากการบริหารจัดการ
เราสิ้นสุดฤดูนาปรังไปประมาณสิ้นเดือนพ.ค. ซึ่งก็ใช้น้ำไปเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ พ.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเข้าหน้าฝน แต่ปริมาณฝนก็น้อยกว่าปกติ เมื่อเข้ามิ.ย. ต้นฝน ก็ยังขาดฝนอยู่ในบางพื้นที่ เช่นที่โคราช เกษตรกรที่เริ่มปลูกนาปี ในช่วงต้นฝน อาจจะมีความเสี่ยงอยู่ ถ้าจะให้ดีควรจะเริ่มในช่วง ส.ค. เพื่อลดความเสี่ยง องค์ความรู้เหล่านี้ ควรมีให้กับเกษตรกร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
เพราะสำหรับภาคเศรษฐกิจกับอุปโภคบริโภค ใช้น้ำไม่เกิน 15% ส่วนที่เหลือคือน้ำเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การนำน้ำไปไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรักษาตลิ่ง เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เพื่อให้น้ำมีชีวิต
การขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง+เทคโนโลยีช่วยทำเกษตรแบบใช้น้ำน้อย
การขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ทำให้เกิดผลกระทบภัยแล้งในวงกว้าง นั่นหมายถึงทั้ง 3 ภาคส่วนที่ใช้น้ำ จะรวนไปหมดทั้งระบบ เช่น ถ้าเกษตรใช้มากกว่า 70% ก็จะมาดึงจากภาคอุตสาหกรรม น้ำอุปโภค บริโภค
ซึ่งในข้อเท็จจริง เราต้องให้ความสำคัญ กับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับหนึ่ง คือต้องมีก่อน ซึ่งเฉพาะส่วนนี้เราใช้เพียงแค่ 5% อุตสาหกรรมกับพาณิชย์ ประมาณ 10% ส่วนที่เหลือก็คือระบบนิเวศน์ แต่ภาพตอนนี้ ในบางพื้นที่เริ่มไม่พอ
เมื่อมีความขาดแคลน เราต้องมามองในรายละเอียด เช่น การเกษตร เราจะทำอย่างไรให้ใช้น้ำน้อยกว่า 70% นั่นก็หมายถึงต้องให้องค์ความรู้ ให้เทคโนโลยี ให้เกษตรกรมีการปรับตัว
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกข้าว แบบใช้น้ำมาก เพราะเราไม่ได้มีการส่งเสริม ให้ใช้น้ำน้อยมาก่อนเลย ใน 1 ฤดูกาล การใช้น้ำต่อการปลูกข้าว 1 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งในประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย เวียดนาม หรือจีน ใช้ประมาณ 800 – 1,000 ลูกบาศก์เมตร เรียกได้ว่าใช้ประมาณครึ่งหนึ่งของเรา และผลผลิตมากกว่าด้วย
นั่นเป็นเพราะมีการใช้เทคโนโลยี ซึ่งหลักการนี้ไม่ใช่เฉพาะข้าว แต่หมายรวมถึงพืชอื่นๆ ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ความรุนแรงของภัยแล้งและน้ำท่วมในอนาคต
ความรุนแรงของภัยแล้งและน้ำท่วมในอนาคต มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะธรรมชาติรุนแรงขึ้น และเกิดบ่อยขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีการละเลยบางสิ่ง
ยกตัวอย่างเรื่องน้ำแล้ง เช่นเรื่องการใช้น้ำด้านการเกษตร ถ้าไม่มีการมองและพยายามลดสัดส่วนลง ให้พยายามอย่างไร น้ำก็ไม่พอแน่นอน
อีกกรณีเรื่องน้ำท่วม ถ้าเราไม่มองเรื่องพื้นที่รับน้ำ ว่าในกรุงเทพฯ ตอนนี้ไม่มีพื้นที่เหล่านี้แล้ว ยังคงก่อสร้างอาคารบ้านเรือนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นส่วนที่เพิ่มความรุนแรง และความเสียหายมากขึ้น
น้ำแล้งกับน้ำท่วมเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่
น้ำแล้ง กับน้ำท่วม เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ใน 1 ปี ฤดูกาลของพื้นที่เดียวกัน อาจจะเกิดทั้งแล้งทั้งท่วมก็ได้ ตามช่วงเวลาที่เข้า ฤดูแล้งก็แล้งหนัก ฤดูฝนก็ตกหนัก จึงสามารถเกิดขึ้นได้
การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง หากมีการบริหารจัดการที่ดี ลดการใช้น้ำจากภาคเกษตร จะลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนได้ ในยามหน้าแล้ง เราก็สามารถนำน้ำเหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แต่เมื่อการใช้น้ำจากการเกษตรไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ การระบายน้ำจากเขื่อน จึงไม่ตรงตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งฝนไม่ตกในปริมาณที่มากเหมือนปกติ จึงมีผลกระทบต่อเนื่อง
รศ.ดร.เสรี กล่าวทิ้งท้าย ถึงทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาว่า การบริหารจัดการต้องเน้นไปยัง “Demand size” คือการจัดการบนความต้องการของประชาชน สมมติง่ายๆ เช่นในพื้นที่นั้น มีน้ำอยู่ในอ่างประมาณ 100 แต่พื้นที่เกษตรบริเวณนั้น ถ้าปลูกเต็มพื้นที่ จะต้องใช้น้ำ 200 นั่นหมายถึงต้องไปจัดการว่า จะทำอย่างไร เนื่องจากมีเพียงแค่ 100 มุ่งไปยังผู้ใช้ว่าจะต้องปลูกอย่างไร ปลูกอะไร ที่ไหน เมื่อไร และเราให้ได้แค่ 100 ไม่ใช่เกษตรในพื้นที่บอกว่าใช้ 200 เรามีอยู่ 100 ก็พยายามจะหามาอีก 100 จากที่อื่น หลักการไม่ใช่อย่างนั้น
“เพราะการหาน้ำจากที่อื่น จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะทุกพื้นที่ก็ต้องการเช่นเดียวกัน”