fbpx
News update

ผู้นำองค์กรควรรับมือกับวิกฤตโควิด-19 อย่างไร ?

Onlinenewstime.com : การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ขยายไปทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้วยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วย ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2020 มาอยู่ที่ -5.3% 

ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งอยู่ที่ -7.6% และหากย้อนไปยังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ยังหดตัวเพียง -0.7% เท่านั้น นับได้ว่าในช่วงเวลานี้ ผู้นำองค์กรกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังเป็นกังวล กับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ และกำลังต้องขบคิดหาวิธีการใ นการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ดังนั้นในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ผู้นำองค์กรควรรับมืออย่างไรนั้น จากบทความของ Deloitte ภายใต้หัวข้อ The heart of resilient leadership ได้ทำการศึกษาว่า ที่ผ่านมาผู้นำองค์กร สามารถนำพาองค์กร ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้อย่างไร และพบว่า 5 คุณลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรควรมีในช่วงวิกฤต

1. ใช้หัวใจและสมองในการนำพาองค์กรในช่วงวิกฤต

ในช่วงวิกฤตผู้นำองค์กร ควรมีความฉลาดทางอารมณ์ และแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อทั้งพนักงานและลูกค้า เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ผู้คนไม่ได้ต้องการอะไร มากไปกว่าความปลอดภัยและการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การดูแลพนักงานและลูกค้า

อย่างไรก็ตามการประคับประคอง ผลประกอบการของบริษัท ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงนั้น ผู้นำองค์กรควรรวมอำนาจการตัดสินใจ เพื่อความชัดเจน รวดเร็ว เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้การตัดสินใจ และการดำเนินการทุกย่างก้าวนั้น ควรอยู่บนเป้าหมายหลักขององค์กรเสมอ

2. ทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลานี้ มักมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เร่งด่วนประดังเข้ามา แต่ผู้นำองค์กร ควรมุ่งเน้นไปที่สิ่งสำคัญที่สุด โดยการกำหนดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน นอกจากนี้ จากการศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ในการรับมือกับโรคระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าผู้นำองค์กร มีการรับมือโดยการการตั้งศูนย์สั่งการพิเศษ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

3. ให้ความสำคัญกับความรวดเร็วไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นตลอดเวลา ผู้นำต้องตัดสินใจอย่างกล้าหาญและทันท่วงที ตลอดจนมีแผนฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ที่สำคัญ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้นำองค์กร สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วขึ้น แม้ว่าจะขาดข้อมูลที่ครบถ้วนก็ตาม ทั้งนี้อาจใช้ข้อมูลที่ใกล้เคียง มาทดแทนไปก่อน และเมื่อกลับสู่สถานการณ์ปกติ ควรมีการทบทวน และพัฒนาคุณภาพข้อมูล เพื่อนำมาใช้ในวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต

4. สร้างความเชื่อใจแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ความเชื่อใจในช่วงเวลาวิกฤตนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ความเชื่อใจจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมีสามปัจจัยรวมกันประกอบด้วย ความโปร่งใส หรือการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ปัจจัยถัดมาคือความสัมพันธ์ที่ดี กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน ปัจจัยสุดท้ายคือ การที่ผู้เกี่ยวข้องเชื่อว่าบริษัทจะทำตามที่สัญญาไว้อย่างแน่นอน ซึ่งความเชื่อใจ นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมแรงร่วมใจกัน ในการเอาชนะอุปสรรคนั่นเอง

5. มองหาโอกาสเพื่อเตรียมพร้อมรับ New Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้นำองค์กรควรหาจุดสมดุล ระหว่างกลยุทธ์ระยะสั้น กับกลยุทธ์ระยะยาว หรือการเลือกที่จะลดต้นทุนบางอย่าง เพื่ออยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจหดตัว กับลงทุนสำหรับการเติบโตในอนาคต เนื่องจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การที่สภาวะแวดล้อม กดดันให้องค์กรจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้นหากผู้นำองค์กร มัวแต่มุ่งความสนใจกับการดำเนิน ตามกลยุทธ์ระยะสั้น จนละเลยกลยุทธ์ระยะยาว อย่างลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น หรือทำ Digital Transformation อาจทำให้ไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาถัดจากนี้

ผู้นำองค์กรที่มีคุณลักษณะข้างต้น จะบันดาลให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนผ่านวิกฤตได้ ทั้งยังช่วยยกระดับแบรนด์ขององค์กรให้ไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้น และสามารถเตรียมพร้อม รับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้วิกฤตเช่นนี้ ยังนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงองค์กร การสร้างสรรค์คุณค่าแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคม ตลอดจนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง