Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ผู้ประกอบการโชวห่วยต้องเร่งปรับตัว หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปช่วงโควิด-19 ระบาด

Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือน!! ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ต้องเร่งปรับตัวหลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปช่วงโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก พร้อมก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) อย่างเต็มรูปแบบ เน้นซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ระวังเรื่องความสะอาดของร้านค้าและสินค้า โดยต้องปราศจากเชื้อโรค ฯลฯ

กรมพัฒน์ฯ จัดโครงการ ‘ยกระดับค้าส่งค้าปลีกไทย สู่ยุค New Normal’ นำทีมที่ปรึกษา ให้คำปรึกษาเชิงลึก และช่วยแก้ไขสารพัดปัญหาให้แก่ร้านค้าส่ง ค้าปลีก โชวห่วยท้องถิ่นขนาดกลางทั่วประเทศ พร้อมศึกษาดูงานในร้านค้าส่งค้าปลีกที่ประสบความสำเร็จ ยกระดับร้านโชวห่วยใ ห้สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุค New Normal ได้อย่างตรงจุด มั่นใจ ร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นต้องอยู่เคียงคู่สังคมไทยไปอีกนาน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดโครงการ ‘ยกระดับค้าส่งค้าปลีกไทย สู่ยุค New Normal’ และการเสวนาเรื่อง ‘แนวทางกลยุทธ์ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกหลัง Covid-19’ ผ่านระบบ Zoom ว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) อย่างเต็มรูปแบบ โดยให้ความสำคัญเรื่องสุขลักษณะที่ดี ร้านค้า/สินค้าต้องสะอาด ปราศจากเชื้อโรค รวมทั้ง เน้นซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ดังนั้น ร้านค้าส่งค้าปลีกของไทย จึงไม่สามารถประกอบธุรกิจได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เช่น การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ ควบคู่กับการขายสินค้าหน้าร้าน (Omni-Channel) ปรับวิธีการบริหารจัดการร้านค้า ให้เป็นระบบ/ระเบียบมากขึ้น ดูแลร้านค้าและสินค้า ให้มีความสะอาด หาสินค้าได้ง่าย เนื่องจากลูกค้าจะใช้เวลาอยู่ภายในร้านไม่นาน ฯลฯ เป็นต้น”

 “และจากปัญหาที่เกิดขึ้น กรมฯ เตรียมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทย โดยได้จัดทำโครงการ ‘ยกระดับค้าส่งค้าปลีกไทย สู่ยุค New Normal’ กลุ่มเป้าหมาย คือผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โชวห่วยขนาดกลาง จำนวน 180 ราย โดยแบ่งเป็น 4 ภาค ดังนี้

ภาคเหนือ 41 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57 ราย ภาคกลาง 64 ราย และภาคใต้ 18 ราย มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังโรคโควิด-19 บรรเทาเบาบางลง และรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภค

รวมถึง ยกระดับศักยภาพธุรกิจ ให้มีระบบการบริหารจัดการตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เสริมสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการบริหารจัดการร้านค้า และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ให้มีรายได้ที่มั่นคง เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน”

รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “กรมฯ จะนำผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีก ลงพื้นที่ร้านค้าส่งค้าปลีก โชวห่วยขนาดกลาง เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจ โดยระบุปัญหาของแต่ละธุรกิจ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ วิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุด

พร้อมทั้ง ลงพื้นที่ศึกษาธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่ประสบความสำเร็จ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้รับ จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และการศึกษาธุรกิจฯ ที่ประสบความสำเร็จ มาปรับใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน/เพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในยุค New normal และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”

“ทั้งนี้ ร้านค้าส่งค้าปลีกโชวห่วยท้องถิ่น ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชน ให้สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ได้อย่างง่ายดาย

รวมถึง เป็นแหล่งกระจายสินค้าท้องถิ่น และสินค้าชุมชนของประเทศ อย่างไรก็ดี ร้านค้าส่งค้าปลีกโชวห่วยท้องถิ่น ต้องเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่ค่อนข้างรุนแรง จากการเข้ามาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกออนไลน์

ทำให้จำเป็นต้องปรับตัว ทั้งด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การตลาด การบริหารคลังสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในร้านค้าอย่างเหมาะสม” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกโชวห่วยขนาดกลางประมาณ 6,061 ร้าน และธุรกิจค้าปลีกโชวห่วยขนาดเล็กประมาณ 400,000 ร้าน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 5986 สายด่วน 1570 และ เว็บไซต์ www.dbd.go.th

Exit mobile version