fbpx
News update

ผ่าแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายา และสถานีธรรมศาสตร์ รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง

onlinenewstime.com : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)   จัดงาน “ผ่าแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายาและสถานีธรรมศาสตร์รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง”

เจาะลึกเปิดแผน TOD การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ตลิ่งชัน-ศาลายาและ รังสิต-ธรรมศาสตร์ มูลค่า 16,772 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้าง กลางปี 2563 ใช้เวลา 36 เดือน กำหนดแล้วเสร็จกลางปี 2566

ส่วนต่อขยายสีแดงอ่อน และสีแดงเข้ม

จากมติ ครม.เมือต้นปี 2562 เห็นชอบโครงการก่อสร้าง รถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง 2 โครงการ วงเงินลงทุนส่วนต่อขยายรวม 16,772.58 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้า ที่จ่ายไฟเหนือหัว (Overhead feeding system) วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.

เมื่อแล้วเสร็จจะเติมเต็มโครงข่าย ของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในเดือน ม.ค. 2564 ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อ ในกลางกรุงเทพฯ กับชานเมืองด้านทิศเหนือ ไปยังพื้นที่ จ.ปทุมธานี และตะวันตกไปยัง จ.นครปฐม สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีสถานีกลางบางซื่อ เป็นจุดเชื่อมต่อ

ส่วนต่อขยาย แยกเป็น สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ประกอบด้วยการสร้างสถานีเพิ่ม 4 สถานี ได้แก่ สถานีฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา

ส่วนสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท มีการก่อสร้างสถานีเพิ่ม 4 สถานี ได้แก่สถานีคลองหนึ่ง สถานีเชียงรากน้อย สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สร้างเพิ่มใหม่ และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน กำหนดแล้วเสร็จราวกลางปี 2566

ศักยภาพของพื้นที่ศาลายา

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ในระยะเวลา 4 ปี ข้างหน้า เมื่อระบบรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ ทำให้เกิดความต้องการผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรระบบขนส่งทางรางเพิ่มอีกอย่างน้อย 20,000 คน

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คณะวิศวะมหิดล โดยกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง เร่งผลิตบุคลากร รองรับการขนส่งระบบราง เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท 2 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นสหวิทยาการ ที่บูรณาการศาสตร์ด้านวิศวกรร มและการบริหารจัดการเข้าด้วยกัน และ 2. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาระบบขนส่งทางราง (หลักสูตรนานาชาติ) ระยะ 2 ปี  

การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายานับเป็นพื้นที่ ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งทางประวัติศาสตร์  วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากร การศึกษาวิจัยและมีศักยภาพสูงรองรับอนาคต นอกจากจะมีโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน – ศาลายาแล้ว

ในอนาคตยังมีอีก 6 โครงการคมนาคมขนส่งสำคัญอีกด้วย ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ถนนวงแหวนรอบที่ 3 , โครงการรถไฟความเร็วสูง ลงสู่ภาคใต้ , โครงการถนนนครอินทร์ – ศาลายา, โครงการสนามบินนครปฐม, โครงการนำร่อง คลองมหาสวัสดิ์ เชื่อมล้อ-ราง-เรือ ,โครงการต่อขยายถนนยกระดับบรมราชชนนี เป็นต้น

สนข.คมนาคม เร่งผลักดันร่าง พรบ.TOD

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นับจากนี้ไป รถไฟฟ้าที่รัฐบาลอนุมัติแล้ว 464 ก.ม. โดยทำเสร็จแล้ว 25 % และจะทยอยเปิดไปจนครบ 10 สายเป็นโครงข่ายสมบูรณ์ปี 25

ในอนาคต จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง เข้าสู่ระบบรางมากขึ้น ปัจจุบันมีคนใช้ระบบราง 6 แสนคนต่อวัน ต่อไปน่าจะทะลุหลักล้าน โดยสายสีเขียว จะเป็นกระดูกสันหลังหลัก (Backbone) หลายคนตั้งคำถาม เหตุใดการพัฒนาพื้นที่ รอบสถานีรถไฟฟ้าของไทยจึ งไม่เหมือนอย่างในญี่ปุ่น เหตุเพราะกฏหมายเป็นอุปสรรคและขาดการวางแผนที่รอบด้าน

เราต้องมี Master Plan ในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี Transit Oriented Development (TOD)  อย่างที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำ โดยลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาวิเคราะห์วิจัย  ออกแบบ เปิดการมีส่วนร่วมของชุมชน และทำแผนศึกษาวิจัยออกมา

ก่อนหน้านี้ พื้นที่เวนคืน หรือก่อสร้างรถไฟฟ้า จะใช้เฉพาะสาธารณประโยชน์เท่านั้น ไม่สามารถนำมาสร้างรายได้  กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ให้สามารถออกเป็นกฎหมายได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อส่งเสริมให้องค์กรท้องถิ่น สามารถนำพื้นที่ไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางรายได้ ดังเช่นในนานาประเทศ และเสริมศักยภาพการพัฒนาเมืองในประเทศไทยให้ยั่งยืนอีกด้วย

TOD ต้องครบ Work –Live – Play

นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นการพัฒนาเมือง ตามยถากรรมเป็นสายริบบิ้น (Ribbon Development) บ้านอาคารสร้างขึ้นตามแนวถนน หรือแนวรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้น

แนวคิดการพัฒนา TOD ต้องเป็นWork –Live – Play เป็นแหล่งงาน  สามารถใช้ชีวิต และพักผ่อนหย่อนใจได้ ไม่ใช่มาซื้อคอนโดเมืองอยู่ เพราะหนีรถติด เสาร์อาทิตย์ กลับไปนอนบ้านนอกเมือง

TOD นั้นจะต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ และนิเวศทางธรรมชาติ มีระบบ Feeder ขนคนมาป้อนสถานีรถไฟฟ้า ออกแบบให้เดินเท้า 5 – 10 นาที จากฟีดเดอร์หรือที่พักอาศัย รวมเวลาเดินทางจากบ้านไปทำงาน และรอฟีดเดอร์ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง

เปรียบเทียบ 2 พื้นที่ ขณะที่พื้นที่รอบสถานีธรรมศาสตร์ มีภาระหนักจากด้านการจราจร และการจัดการที่ดินที่ซับซ้อนกว่า 

ศาลายาน่าจะเริ่มพัฒนาได้เร็วกว่า เนื่องจากเจ้าของที่ดินหลัก มีจำนวนน้อยราย กล่าวคือ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  การรถไฟแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล  สถานีศาลายาและธรรมศาสตร์ จะเป็นต้นแบบของการพัฒนา TOD ที่มีการศึกษาวิจัยวางแผนพัฒนาก่อน โดยยึดประโยชน์ส่วนรวม ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายา  ต้นแบบพัฒนา TOD

ผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการศึกษาและวิจัยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายา เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง พบว่า ในอนาคตตำบลศาลายา มีแนวโน้มที่จะมีประชากร และผู้สัญจรเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันด้านคมนาคม และการบูรณาการพื้นที่ ให้เป็นประโยชน์

แผนการศึกษาพัฒนาและดำเนินการ  3 โครงการ

  • โครงการที่ 1 การศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Study of Transit – Oriented Development) โดยดำเนินการศึกษาข้อมูล การใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลประชากรและพื้นที่ การออกแบบพื้นที่ตามเกณฑ์ TOD Standard 4 หมวด คือ การเดิน, จักรยาน, การเชื่อมต่อ และระบบขนส่งรอบสถานีขนส่งมวลชน ได้เสนอแนะการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีใน 2 ระยะ ดังนี้
    • ในระยะที่ 1 (ก่อนการประกวดราคาก่อสร้างสายสีแดงอ่อน)  ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำทางข้าม ทางเดินและทางจักรยานระยะ 300 เมตร เชื่อมจากมหาวิทยาลัยมายังสถานีศาลายา  2. เทศบาลตำบลศาลายา / กรมทางหลวงชนบท / สภ.พุทธมณฑล รวมจุดเชื่อมต่อ รถโดยสารสาธารณะ ให้อยู่บริเวณด้านหน้าสถานี และปรับปรุงป้ายรถโดยสารประจำทาง และจัดทำจุดจอด รับ-ส่ง ผู้โดยสารรถตู้สาธารณะ 3. กรมทางหลวง / กรมทางหลวงชนบท ปรับปรุงทางเท้าและป้าย บนถนนหลักถนนพุทธมณฑลสาย 4  และถนน 3004  4. เทศบาลตำบลศาลายา ปรับปรุงทางเท้า และทางจักรยานในพื้นที่สถานี ให้ได้มาตรฐานสำหรับคนทุกวัย และสร้างทางเดิน และทางจักรยานริมคลองมหาสวัสดิ์
    • ในระยะที่ 2 (หลังการประกวดราคาก่อสร้าง) ประกอบด้วย  5. กรมทางหลวงชนบท  ปรับปรุงการเชื่อมต่อถนน ทล  4006 กับถนนเลียบทางรถไฟ รวมทั้งติดตั้งสัญญาณไฟจราจร  6. รฟท.ปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าสถานี ให้เป็นพื้นที่สีเขียว มีทางเดินร่มเงา มีลานกิจกรรม รวมถึงปรับปรุงแนวพื้นที่ด้านข้างสถานี เป็นที่จอดรถ  และพื้นที่พาณิชยกรรม  7. รฟท. จัดทำทางข้ามด้านหน้าและด้านหลังสถานี เพื่อเชื่อมต่อชุมชนโดยรอบ  8. รฟท. เพิ่มโครงข่ายทางถนนที่เชื่อมต่อ ระหว่างถนนทวีวัฒนาและถนนเลียบทางรถไฟ  10. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ / เทศบาลตำบลศาลายา ปรับปรุงทางเข้าหลักของสถานีรถไฟ ให้เป็นเส้นทางการเดินและทางจักรยาน  และเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์  11. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปรับปรุงการใช้พื้นที่ ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่  12. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ / กรมทางหลวง เพิ่มโครงข่ายการเดินรถ เชื่อมต่อถนนพุทธมนฑลสาย 4 เข้าสู่ถนนเลียบทางรถไฟ
  • โครงการที่ 2 แนวทางการพัฒนาการเดินทางในพื้นที่ชานเมือง โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (Enhancing Suburban Mobility Using Public Transportation) มีดังนี้
    • การพัฒนาจุดเชื่อมต่อรถสาธารณะ สามารถเข้า – ออก ได้สะดวกทั้งสองทิศทาง
    • ปรับปรุงการให้ข้อมูลการเดินรถ โดยออกแบบแผนผัง เส้นทางการเดินรถสาธารณะ ในบริเวณพื้นที่ศาลายาไว้แล้ว 3. ปรับปรุงโครงสร้างในการให้สัมปทานและการบริหารจัดการการเดินรถสาธารณะ 4. ออกนโยบายส่งเสริมการใช้รถสาธารณะที่เป็นรูปธรรม เพิ่มความถี่ในการเดินรถสาธารณะ จัดการเดินรถ ให้มีตารางที่แน่นอน รวมถึงการปรับปรุงการให้บริการ
  • โครงการที่ 3 การศึกษาแนวทางการพัฒนาเส้นทางสัญจร ปราศจากสิ่งกีดขวางสู่ระบบรางของชุมชน (The Barrier – Free Railway Feeder Pathway For Community Development)เสนอแนะแนวทาง
    • แผนการพัฒนาเส้นทางสัญจรพื้นที่ศาลายา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น (เร่งด่วน) ปรับปรุงเส้นทางนำร่อง มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระยะกลาง ปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางพื้นฐานเชื่อมต่อทั้งหมด เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระยะยาว ปรับปรุงโครงข่ายเชื่อมต่อ ระดับชุมชนทั้งหมดและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนา
    • การจำกัดจำนวนรถบรรทุกที่วิ่งผ่านพื้นที่ โดยเปลี่ยนเส้นทางรถบรรทุก ให้ใช้เส้นทางพุทธมณฑลสาย 5 เป็นหลัก และจำกัดเวลาการเข้าพื้นที่ ของรถบรรทุก ทั้งนี้ แนวคิดนี้ยังต้องการความร่วมมือจ ากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
    • การปรับปรุงตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับพื้นที่ศึกษา

สถานีธรรมศาสตร์ เชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ทางด้าน รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค (Regional center) และเป็นศูนย์กลาง ของการกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดี เกิดการจ้างงาน การอพยพของคน เข้ามาสู่พื้นที่ และเกิดพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ด้านพาณิชยกรรมอย่างเข้มข้น แผนศึกษาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีธรรมศาสตร์ 5 โครงการ มีดังนี้

  • โครงการที่ 1 กรอบการวิเคราะห์นโยบายและการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ บริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบราง ที่เอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
  • โครงการที่ 2 การวางแผนและออกแบบโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ระบบรองและสิ่งแวดล้อมสรรค์ สร้างที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อ การใช้ระบบขนส่งมวลชนระบบราง ของคนทุกกลุ่มทั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเดินเท้า (Pedestrian Mall) และ โครงสร้างเพื่อคมนาคมขนส่งสาธารณะ (Transit Mall)พื้นที่บริการรถโดยสาร และอื่นๆ
  • โครงการที่ 3 กลยุทธ์การวางแผนเมืองและออกแบบสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อต่อการพัฒนา บริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบราง  
  • โครงการที่ 4 แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี เพื่อสร้างความเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ และการค้าแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน
  • โครงการที่ 5 แนวทางการออกแบบวางผังที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะบริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชน ระบบรางทีเอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ