Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ฝ่ายจัดซื้อองค์กรใช้อีคอมเมอร์ซสูง ขณะที่การสื่อสารออฟไลน์ก็ยังมีบทบาท

onlinenewstime.com : ผลสำรวจจากยูพีเอส เกี่ยวกับแนวโน้มการจัดซื้อขององค์กรในเอเชียเผย แม้อัตราการสั่งซื้อออนไลน์เติบโต แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และบริการหลังการขาย ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในการสั่งซื้อ

ยูพีเอสเผย ผลการศึกษาทิศทางการจัดซื้อสินค้าอุตสาหกรรม ของเอเชียแปซิฟิก ปี 2562 (2019 UPS Industrial Buying Dynamics Asia Pacific study) พบว่า ผู้จัดซื้อในธุรกิจต่างๆของภูมิภาค สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วนสูง  และขณะเดียวกัน ยังคงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และบริการหลังการขายที่ดี โดยทำการสำรวจผู้ซื้อ ในภาคอุตสาหกรรมกว่า 3,400 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ 600 คนมาจากบริษัทต่าง ๆ ในจีน ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อมูลเจาะลึกระดับภูมิภาค และแนวโน้มในแต่ละตลาด เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เชื่อมโยงกับผู้ซื้อในเอเชียได้ดียิ่งขึ้น

ซิลวี แวน เดน เคิร์กฮอฟ รองประธานฝ่ายการตลาด ยูพีเอส เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “สิ่งที่เราเห็นในเอเชียคือความสัมพันธ์ทางธุรกิจ มีหลากหลายมิติ และช่องทางซื้อขายออนไลน์กำลังมาแรง แต่ขณะเดียวกัน รูปแบบการซื้อสินค้าแบบเดิมๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ผู้ค้าที่ต้องการทำธุรกิจในตลาดเอเชีย จึงต้องหาจุดสมดุลจากแนวโน้มนี้ และจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ทั้งกับช่องทางการค้าแบบอีคอมเมอร์ซ และแบบเดิมๆ ให้ดำเนินการอย่างสอดประสานกัน ควบคู่ไปกับบริการหลังการขายที่ดี เช่น การรับคืนสินค้าด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อให้กับผู้ซื้อ”

ขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ รูปแบบโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป มีบทบาทอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้า แต่สำหรับเอเชีย การจะประสบความสำเร็จในตลาดนี้ แนวทางที่ควรทำคือ ให้พิจารณาผู้ซื้อจาก หน้าที่การงาน  มากกว่าสัญชาติ หรืออายุ

การศึกษาชี้ให้เห็นว่า เอเชียคือภูมิภาคที่มีความซับซ้อนสูงมาก  ผู้ซื้อทุกคน ต่างให้ความสำคัญกับความต้องการเฉพาะ ในการให้บริการองค์กรที่ตนทำงานอยู่

รูปแบบการจัดซื้อขององค์กรกำลังเปลี่ยนไป

ผลการศึกษาพบว่า การซื้อสินค้าออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ซื้อในเอเชียตอบว่า มีแผนจะใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในห้าปีข้างหน้า ในกลุ่มผู้ที่ตอบว่าชื่นชอบช่องทางออนไลน์ ผู้ซื้อในญี่ปุ่นซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วน 31% ซึ่งสูงกว่าผู้ซื้อในจีน และประเทศไทย ที่มีสัดส่วน 14% ทั้งคู่ ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย บริษัทที่มีงบจัดซื้อสูงกว่า ตอบว่าตนมีแนวโน้มจะหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า ส่วนในจีน การสั่งซื้อออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย  

แม้ว่าผู้ซื้อในเอเชียมีแนวโน้ม ที่จะซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การศึกษายังพบว่า ในเอเชีย การยกหูโทรศัพท์คุย หรือพบปะกับตัวแทนของผู้ขายสินค้า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยกว่า ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป

ผู้ซื้อในเอเชียให้ความสำคัญ กับการทำความรู้จัก และสร้างความสัมพันธ์กับผู้ขาย ก่อนทำการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในจีน ที่การทำธุรกิจร่วมกัน จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน ให้เกิดขึ้นก่อน

แนวโน้มการสั่งซื้อจากต่างประเทศมีมากขึ้น

ในด้านการเลือกซื้อสินค้า จากผู้จำหน่ายในประเทศ เอเชียก็มีสัดส่วนสูง ไม่ต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก คือ 67% ของการจัดซื้อภาคธุรกิจในเอเชีย มาจากผู้จำหน่ายในประเทศ ขณะที่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 73% และยุโรปอยู่ที่ 64% แต่ประเทศที่เด่นชัดที่สุด คือญี่ปุ่น ซึ่งผู้ซื้อ 90% เลือกซื้อสินค้า จากแหล่งจำหน่ายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตอันใกล้ อาจเปลี่ยนไป เนื่องจากญี่ปุ่น เพิ่งลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี หลายฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป สำหรับคำถามว่า

อะไรคืออุปสรรคในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญสามลำดับแรก จากผู้ตอบแบบสำรวจในเอเชียคือ ระยะเวลาส่งสินค้าที่นานกว่า (60%) ความล่าช้าทางศุลกากร (55%) และความลำบากในการคืนสินค้า (45%)  

บริการหลังการขายคือปัจจัยเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้า

ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก บริการหลังการขาย ยังคงเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการจัดซื้อขององค์กร ในทุกประเภทของสินค้าและทุกภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า ผู้ซื้อในเอเชีย จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบริการหลังการขาย มากกว่าผู้ซื้อในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งบริการเหล่านี้ได้แก่ การรับคืนสินค้า บริการรับของถึงที่สำหรับสินค้าที่ยากต่อการขนส่ง รวมทั้งบริการบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป สำหรับการส่งคืนสินค้า

ในจีนและญี่ปุ่น บริการหลังการขายที่สำคัญที่สุด คือการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถึงที่ ส่วนในประเทศไทย การรับคืนสินค้าคือประเด็นสำคัญที่สุด

รัสเซล รี้ด กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่งผลให้ประเทศไทย มุ่งสู่แนวทางเศรษฐกิจแห่งการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตของไทย

การเติบโตของอุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงทำให้ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากขึ้น กับบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้จัดซื้อไทยในภาคธุรกิจ ให้ความสำคัญมากกับการคืนสินค้า ซึ่งบริการดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในหลายโซลูชั่น ที่ยูพีเอสมีรองรับ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสร้างจุดแข็ง ที่แตกต่างจากคู่แข่งได้

โฮมเพจ UPS

Exit mobile version