fbpx
News update

พาณิชย์ นำสถาบันการเงินลงพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นตลาดรับซื้อไม้ยืนต้น

onlinenewstime.com : กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น ให้สถาบันการเงิน สำหรับการนำไม้ยืนต้น มาเป็นหลักประกันการให้สินเชื่อ

หลังจากพบปัญหาขาดความเชื่อมั่นในหลักประกัน (ไม้ยืนต้น) โดยนำคณะลงพื้นที่ จ. กาญจนบุรี ดูตลาดรับซื้อไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ ปริมาณความต้องการไม้ พร้อมเยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่าไม้ยืนต้นที่มีค่า ของเกษตรกรในพื้นที่ มั่นใจไม้ยืนต้นที่นำมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี และมีแหล่งรับซื้อไม้ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างแน่นอน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “วันนี้ (30 เมษายน 2562) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน “อุตสาหกรรมไม้โตเร็ว โอกาสของเกษตรกรนำ “ไม้โตเร็ว”มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ” ณ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) โรงงานวังศาลา จังหวัดกาญจนบุรี โดยนำคณะผู้แทนสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เช่น กรมป่าไม้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน ลงพื้นที่ดูภาพรวมของธุรกิจไม้ ตลาดรับซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ ความต้องการปริมาณไม้ของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้ง เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่าไม้ยืนต้น ที่มีค่าของเกษตรกรในพื้นที่

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงิน กรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน หลังพบปัญหา สถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในหลักประกัน (ไม้ยืนต้น) รวมทั้ง ความเสี่ยงในการดูแลต้นไม้ ที่นำมาใช้เป็นหลักประกัน หลังการให้สินเชื่อ ทำให้สถาบันการเงิน ยังไม่กล้ารับความเสี่ยง ที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน”

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะเน้นที่อุตสาหกรรมไม้โตเร็วเป็นหลัก ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ชนิดที่มีรอบตัดฟันสั้น เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ใช้ระยะเวลาในการปลูก 3 – 5 ปี และเป็นไม้ ที่เป็นที่ต้องการสูง ของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

หากสถาบันการเงินต้องการบริหารความเสี่ยง ต้นไม้โตเร็วกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะมีผู้ต้องการรับซื้อไม้ เป็นจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกร ที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสประมาณ 70,000 ราย ต้นทุนเฉพาะต้นกล้าไม้ประมาณ 600 บาท/ไร่ (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 2,000 – 3,000 บาท/ไร่) โดยมีราคาหน้าโรงงานประมาณ 1,300 – 1,500 บาท/ตัน”

 “สำหรับตลาดต่างประเทศ ที่มีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสสูง ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะไม้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC (Forest Standard Certification – การรับรองมาตรฐานป่าไม้ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความยั่งยืน) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก ทั้งนี้ มีการขายไม้ยูคาลิปตัสในประเทศประมาณ 7 ล้านตัน/ปี และส่งออกไปจำหน่ายที่ตลาดต่างประเทศประมาณ 5 ล้านตัน/ปี

ส่วนแนวโน้มตลาดโลกในอนาคต คาดว่าจะมีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มมากขึ้น ราคาขายมีการปรับตัวจาก 130 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน”

“อย่างไรก็ตาม ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสใน 5 ปีแรก จะยังไม่มีรายได้ เพราะรอบตัดฟันอยู่ที่ประมาณ 5 ปี ซึ่งหากสถาบันการเงิน สามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยให้เกษตรกร มีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการที่สถาบันการเงินรับต้นไม้ เป็นหลักประกัน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นอย่างมาก”

“นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้นำคณะฯ เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่ายูคาลิปตัส ของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความพร้อม ที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ วิธีการเลือกชนิดไม้ที่ปลูก ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลรักษาต้นไม้ ของเกษตรกร  ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ กระบวนการรับซื้อไม้ กระบวนการผลิตไม้ ซึ่งเป็นธุรกิจป่าไม้ ธุรกิจเยื่อ และธุรกิจกระดาษ

ซึ่งทุกกระบวนการดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงิน ในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร และประชาชนผู้ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยใช้ไม้ยืนต้นนั้น มาเป็นหลักประกันมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกร หันมาปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูง ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง-ช้า เช่น สัก พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม ฯลฯ ในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม และเป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคต รวมทั้งปลูกป่า เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอีกด้วย”

บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging Business Chain) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากต้นไม้ (Fibrous Business Chain) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจย่อย คือ 1) ธุรกิจป่าไม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นกล้า ที่จะนำมาผลิตเยื่อ 2) ธุรกิจเยื่อ ผลิตเยื่อคุณภาพสูง และ 3) ธุรกิจกระดาษ ผลิตกระดาษที่ใช้ทั่วไป  กระดาษที่ใช้บรรจุอาหาร และกระดาษอุตสาหกรรม (ฉลากอาหาร) ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 500,000 ตัน/ปี

โครงสร้างของการทำธุรกิจ เริ่มจากการศึกษาวิจัยต้นไม้ เน้นปลูกต้นยูคาลิปตัส เป็นหลักทั่วประเทศ มีการผลิตต้นกล้าประมาณ 50 ล้านต้น/ปี ทั้งปลูกเอง และเกษตรกรปลูก (95%) รอบตัดฟันประมาณ 4 – 6 ปี ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไม้มาขาย ณ จุดรับซื้อทั่วประเทศ ภาคตะวันตก ภาคเหนือ (50 แห่ง) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (37 แห่ง) รวมทั้งมีตัวแทนรับซื้อ (100 ราย) โดยจะนำไม้เข้าโรงสับไม้ และส่งต่อไปยังโรงผลิตเยื่อตามลำดับ