fbpx
News update

มอบประกาศนียบัตรให้ 11 อพท. น้อย จ.เชียงราย เพื่อพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

www.onlinenewstime.com : นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  ประธานเปิดพิธีและมอบประกาศนียบัตร “การส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐาน” ให้กับ 11 องค์กรในจังหวัดเชียงราย

ที่ผ่านการประเมินมาตรฐาน การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS)  หรือ “อพท. น้อย” ให้สามารถนำองค์ความรู้ ไปช่วยชุมชนในพื้นที่การปกครอง ให้เกิดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น ณ โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บายกะตะธานี จังหวัดเชียงราย

โครงการ อพท. น้อย เกิดจากแนวคิด ที่ว่า อพท. เป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ทัน กับความเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะและผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้นการขยายและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปยังองค์กร ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล

จึงเป็นที่มาของการพัฒนามาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ STMS ให้เป็นเกณฑ์ ที่ใช้พัฒนาให้แก่หน่วยงาน องค์กร ได้นำไปใช้นำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ในเรื่องของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยมี 11 หน่วยงานที่ผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยว หรือ STMS ได้เป็น อพท. น้อย ได้แก่  เทศบาลตําบลท่าสาย  เทศบาลตําบลนางแล  เทศบาลตําบลแม่ยาว เทศบาลตําบลเวียงเชียงแสน  เทศบาลตําบลศรีดอนชัย   เทศบาลตําบลห้วยไคร้  เทศบาลนครเชียงราย   องค์การบรหารส่วนตําบลรอบเวียง   องค์การบริหารส่วนตําบลห้วยไคร้  องค์การบริหารส่วนตําบลห้วยชมภู  และบริษัท นิวเชียงแสน กรุ๊ป จํากัด  

สำหรับเมืองเชียงแสน เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เป็นที่ตั้งแหล่งประวัติศาสตร์อารยธรรมก่อนล้านนาและล้านนา ที่ยังคงเหลือร่องรอยโบราณสถานให้เห็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณเมืองเชียงแสน และแหล่งประวัติศาสตร์เชื่อมโยง สามารถเข้าถึงได้สะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ

และยังเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยว กับเมืองสุวรรณโคมคำและเมืองหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองเชียงรุ้งในสาธารณรัฐประชาชนจีนและเมืองเชียงตุงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ ตามเส้นทาง R3A เส้นทาง R3B และการล่องเรือแม่น้ำโขง พื้นที่ส่วนนี้ จึงได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) 

ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่าง อพท.น้อย กับ อพท. ที่มีอยู่เดิม คือ อพท. เดิม จะมีชุมชนเป็นเป้าหมายของการทำงาน ส่วน อพท.น้อย จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเป้าหมายของการทำงาน  เพราะ อพท. จะอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทน ที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือผู้นำชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจ ตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนท้องถิ่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีเกณฑ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยว  แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แนวทางการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน และการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้กับประชาชน ผู้ที่จะผ่านการอบรม ต้องมีผลการประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ 70  โดยโครงการ อพท.น้อย ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559