www.onlinenewstime.com : จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของมอส เบอร์เกอร์ ในประเทศไทย ที่เข้ามาเปิดตัวครั้งแรกที่เซ็นทรัล เวิลด์ ในปี 2550 และจากเดิมที่มีบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 6 ล้าน ล่าสุดเปลี่ยนเป็น นายพิธาน องค์โฆษิต ประธานบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 75% และมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 200 ล้านบาท
เส้นทางในอนาคตจากนี้ไป ของแบรนด์ร้านอาหารฟาส์ต์ฟู้ดที่ประสบความสำเร็จอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น และยังประสบความสำเร็จในอีกหลาย ๆ ประเทศ เมื่อตกมาอยู่ในมือของนายพิธานนั้น เขากล่าวว่า การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในครั้งนี้จะมาเสริมความแข็งแกร่งในด้านการตลาดและการบริหารงานให้แบรนด์มอส เบอร์เกอร์เพิ่มขึ้น
ในด้านของแผนการตลาดปีนี้ จะมีการขยายสาขาเพิ่มจำนวน 6 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 8 สาขาในกรุงเทพฯ ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ แฟชั่นไอส์แลนด์ เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่ พลาซ่า สุขุมวิท เซ็นทรัลพลาซ่า บางนา เซ็นทรัล พระราม 3 เอ็มโพเรียม ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และเทอมินอล 21 (อโศก) นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มอีกปีละ 9 สาขาทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว
รวมถึงการปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ว่า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จะเน้นการทำออนไลน์ ดิลิเวอรี่ ซึ่งจะมีการทำโปรโมชั่นร่วมกับผู้ให้บริการดิลิเวอรี่ต่าง ๆ และจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดอื่นๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย 500 ล้านบาทใน 4 ปี
เมื่อนำกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับคนไทยเข้ามาเสริม ก็จะสามารถเติบโตและกลายเป็นคู่แข่งลำดับต้น ๆ ในตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทยได้ในอนาคต ซึ่งสิ่งที่เราจะนำเข้าไปเสริมจะเป็นในเรื่องของการบริหารการจัดการ และช่วยคิดเมนูใหม่ ๆ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของคนไทย สำหรับมอส เบอร์เกอร์ ญี่ปุ่น ยังคงดูแลในเรื่องของผลิตภัณฑ์
“มอส เบอร์เกอร์ เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและมีโอกาสที่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากแบรนด์มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพอาหารและรสชาติที่เป็นญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ซึ่งตรงกับความชอบของคนไทยที่ชื่นชอบรสชาติของอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว โดยในปัจจุบันได้ขยายสาขาไปในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และไทย”
ตลาดเบอร์เกอร์เมืองไทย มูลค่าตลาดรวม 9,000 พันล้านบาท ในปัจจุบันมี 2 แบรนด์หลัก คือ แมคโดนัลด์ และเบอร์เกอร์คิง ครองส่วนแบ่งตลาด 90% โดยคาดว่าการแข่งขันหลังจากนี้ไป ภายในปี 2563 จะทำให้มูลค่าตลาดรวมเบอร์เกอร์เติบโตขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท