Onlinenewstime.com : นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 ต.ค. 2565) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัดต่อคณะรัฐมนตรี โดยสรุปได้ดังนี้
1. กรมสรรพากร
1.1 มาตรการที่มีการดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
1.1.1 มาตรการสนับสนุนการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล
เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1) กรณีบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า 2) บริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า และ 3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า
1.1.2 มาตรการสนับสนุนการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
ซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1) กรณีบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ ๑ เท่า 2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ ๑ เท่า และ 3) กรณีผู้ประกอบการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า
1.1.3 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัท
หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 1) กรณีเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล 2) กรณีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหาย และ 3) กรณีค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหาย
1.2 มาตรการที่อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม
1.2.1 มาตรการในระยะเร่งด่วน: การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในพื้นที่อุทกภัย
จากเดิมต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่
30 ธันวาคม 2565
1.2.2 มาตรการในระยะถัดไป: การหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์
ของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท และหักลดหย่อน
ค่าซ่อมแซมรถของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2. กรมศุลกากร
2.1 มาตรการทางภาษี: การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามา เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
2.2 มาตรการอื่น: กรมศุลกากรได้มอบหมายให้ด่านศุลกากรในส่วนภูมิภาคช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ เช่น การมอบสิ่งของจำเป็น การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
3. กรมสรรพสามิต
ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 ได้รับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและ
ชำระภาษี จากเดิมวันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และขยายกำหนดเวลา
ในการยื่นงบเดือนจากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
4. กรมบัญชีกลาง
4.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
จำนวน 20,000,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในด้านการดำรงชีพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
และด้านการเกษตร
4.2 มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย
โดยกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้คลังจังหวัดประสานงานกับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดให้การสนับสนุน
การปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
5. กรมธนารักษ์
5.1 มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด 2 ปี ได้แก่ 1) กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วนให้ยกเว้นค่าเช่า เป็นระยะเวลา 1 ปี และเสียหายทั้งหลังให้ยกเว้นค่าเช่า
เป็นระยะเวลา 2 ปี 2) กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหายให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี 3) กรณีผู้เช่าอาคารราชพัสดุและผู้เช่าที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนตามข้อเท็จจริง และ4) กรณีผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระภายในกำหนดเวลาโดยเหตุมาจากอุทกภัยให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่ม
5.2 มาตรการมอบถุงยังชีพให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 33 จังหวัด จำนวน 3,134 ชุด
6. การยาสูบแห่งประเทศไทย
มาตรการช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและ
ความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยการแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีพในพื้นที่ต่าง ๆ
7. ธนาคารออมสิน
7.1 มาตรการพักชำระหนี้ โดยสามารถเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 10 – 100 และกรณี
อยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบคงที่ สามารถขอลดการชำระเงินงวดร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
7.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยปลอดชำระค่างวด 3 งวดแรก วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาทสำหรับบุคคลธรรมดา
7.3 มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี
โดยปลอดชำระเงินต้นในปีแรก วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกิน 5,000,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs
7.4 มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.49 เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ร้อยละ 100 ของหลักประกัน
7.5 มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติหรือวันที่ประสบภัยพิบัติ
8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ
8.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565 – 2566 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี
เป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
8.3 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 2 หรือประมาณร้อยละ 4.50 ต่อปี เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท
9. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
9.1 มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ย
เงินกู้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย และอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบลอยตัว
9.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท
9.3 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะ
อยู่ระหว่างประนอมหนี้
9.4 มาตรการสินไหมเร่งด่วน จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ กรณีทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประสบภัย
10. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
10.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พักชำระเงินต้น
เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ธนาคารกำหนด
10.2 มาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 5.5 ต่อปีปลอดระยะเวลาชำระเงินต้น 2 ปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท
11. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565 ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) ที่สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อธุรกิจแบบมีกำหนดระยะเวลาของ ธอท. (Term Financing)
12. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
12.1 มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิมแต่ไม่เกิน
2 ล้านบาท
12.2 มาตรการเพิ่มวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ (Prime Rate) หรือประมาณร้อยละ 5.75
โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 3 เดือน วงเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
12.3 มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 1 ปี
12.4 มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน
ทั้งนี้ หากลูกค้าตามข้อ 12.3 และ 12.4 ชำระหนี้ได้ปกติ จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยคืน (Rebate) ร้อยละ 2 ต่อปี โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
13. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
13.1 มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
13.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยได้ต่ำสุดร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี
นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2565
ของกระทรวงการคลังจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
เช่น ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้”
—————————————————————–
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
1. กรมสรรพากร โทร. 02 272 8000 หรือ 1161
2. กรมศุลกากร โทร. 1164
3. กรมสรรพสามิต โทร. 02 241 5600 หรือ 1713
4. กรมบัญชีกลาง โทร. 02 270 6400
5. กรมธนารักษ์ โทร. 02 059 49999 หรือ 02 273 0899-903
6. การยาสูบแห่งประเทศไทย โทร. 02 229 1000
7. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือ 1115
8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
9. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
10. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือ 1357
11. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 271 3700 หรือสายด่วน Hotline 02 037 6099
12. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 264 3345 หรือ 1302
13. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999