Onlinenewstime.com : โลกยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 4 พ.ค. 63 พุ่งกว่า 3.5 ล้านคน อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา อันดับ 2-6 รองลงมา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมันและอังกฤษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 248,285 คน รวมถึงในประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สาธารณสุข วิศวกรรมและเทคโนโลยี
เปิดมุมมองของนวัตกรและนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีต่อโอกาสและความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบวิกฤติโควิด-19 ว่าเป็น The Fight of the Century หรือ “การต่อสู้แห่งศตวรรษ” ระหว่างมนุษย์ 7.8 พันล้านคน กับไวรัสที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นานาประเทศต่างเผชิญปัญหาการแพร่ระบาด ที่เขย่าโลกให้ปั่นป่วน และล๊อคดาวน์เมืองต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
ในการสร้างบุคคลากร มารองรับวิถีใหม่เปลี่ยนโลก New Normal คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดพัฒนาหลักสูตรผลิต “แพทย์นวัตกร” หรือหลักสูตรร่วมแพทย์-วิศวะ (พ.บ. – วศ. ม.) เรียน 3-1-3 ปี ได้สองปริญญา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ ที่เปิดสอนเป็นแห่งแรกในอาเซียนมากว่า 22 ปี ตอบโจทย์ยุคที่โลกเผชิญสงครามชีวภาพโควิด-19 ซึ่งมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นแนวหน้า วิศวกรและนวัตกรเป็นกองหนุน
นายชวพล ดิเรกวัฒนะ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิชาการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ใครจะคาดคิดว่าไวรัสตัวจิ๋วจะจู่โจมเราได้รวดเร็วทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขตลอดมา การมาของโควิด-19 ได้พลิกโลก…สังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ให้เปลี่ยนไป รวมถึงการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
ทั้งเป็นตัวเร่งบังคับ ให้แนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ Digital Transformation เป็นจริงเร็วขึ้น วันนี้เราจึงได้เห็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ คนทำงาน Work From Home แม้ว่าประเทศไทย จะสามารถตรึงกำลังและสูญเสียน้อย เพราะเรามีทีมไทยแลนด์ที่ทำงานร่วมกันได้ผลดี แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่จนถึง อสม.ในชุมชนที่เข้มแข็งทุ่มเท
แต่ในระยะยาวประเทศเรา ต้องเร่งสร้างบุคคลากรที่มีศักยภาพ ในการทำงานวิจัยพัฒนาและผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ รองรับอนาคตและภาวะฉุกเฉินที่จะมาอย่างไม่คาดฝัน สร้างเครื่องมือสนับสนุนสาธารณสุขไทย และประชาคมโลกได้ดียิ่งขึ้น
นายสุวิพัฒน์ ฉลองวงศ์ ปัจจุบันทำงานที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ พร้อมใจกันสวมหน้ากาก อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
ในมุมมองของนวัตกร สถานะการณ์โควิด-19 เปรียบเสมือนการเปิดน่านน้ำเสรีใหม่ให้กับเหล่านักวิจัย นวัตกรทางการแพทย์ ได้เข้ามามีบทบาท และแสดงศักยภาพในการช่วยเหลือแก่สังคม หลายสิ่งเราทำได้ดีกว่าประเทศตะวันตกเสียอีก ทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ของคนไทยเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
จะเห็นว่าโควิด-19 มาพร้อมกับความขาดแคลนหน้ากาก ชุด PPE อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการต่อสู้กับโควิด19 ทำให้เกิด DIY สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยการแพทย์มากมาย หลายอย่างมีหลักการและใช้งานได้ดี แต่หลายๆอย่าง ก็สุ่มเสี่ยงอันตรายต่อคนป่วย และขัดต่อหลักความปลอดภัยทางวิศวกรรม เนื่องจากมีเวลาจำกัด ขาดองค์ความรู้ความเข้าใจทางวิศวกรรมชีวการแพทย์และการแพทย์
คิดว่าในอนาคต เมื่อแพทย์นวัตกรหรือวิศวกรชีวการแพทย์มีมากขึ้น กระจายตัวไปทำงานยัง รพ.ต่างๆ จะสามารถพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และผลักดัน ให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ พร้อมไปกับยกระดับระบบสาธารณสุขของไทยให้ดียิ่งขึ้นได้
ดร.ดิลก ปืนฮวน อาจารย์โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และศิษย์เก่าปริญญาเอก ภาควิชาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้เราเห็นภาพชัดว่า ประเทศไทยมีการพึ่งพาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศสูงมาก ต่อไปประเทศไทยคงจะให้ความสำคัญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศและอุตสาหกรรมเฮลท์เทคมากยิ่งขึ้น
วิศวกรและนวัตกรไทยมีฝีมือไม่แพ้ใคร ไทยเรามีข้อได้เปรียบ เพราะเป็นฐานของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ที่มาประยุกต์ใช้ได้ จะช่วยลดการนำเข้า และสำรองการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ในภาวะฉุกเฉินในอนาคต วิศวกรชีวการแพทย์ และ แพทย์นวัตกร นี้ เรียกได้ว่าเป็นดีไซเนอร์แห่งวงการแพทย์ บุคคลเหล่านี้ จะเป็นพลังในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ก่อนหน้านี้ 3 หนุ่ม เป็นทีมผู้คิดค้นนวัตกรรม หุ่นยนต์ลำเลียง สู้โควิด -19 ร่วมกับ รศ.นพ.ดร.สรยุทธ์ ชำนาญเวช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หุ่นยนต์ตัวนี้ ออกแบบมาใช้งานดูแลคนป่วยโควิด-19 ลดความเสี่ยงของแพทย์พยาบาล สามารถช่วยส่งของ ส่งอาหาร ลำเลียงเวชภัณฑ์ รับน้ำหนักได้ 100 กก.ควบคุมด้วยระบบ IoT (Internet of Things) ทั้งสามารถสั่งการผ่านอินเทอร์เน็ต และสามารถทำหน้าที่สนทนาออนไลน์ระยะไกล ระหว่างหมอกับคนไข้ (Telepresence) หรือประชุมออนไลน์กับผู้เกี่ยวข้องได้ด้วย