fbpx
News update

ม.ค. 65 มีการอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย 49 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,767 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 393 คน

Onlinenewstime.com : นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในเดือนมกราคม 2565 มีจำนวน 49 ราย

นายสินิตย์ เลิศไกร

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 18 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 31 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,767 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติ 18 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจาก ญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 821 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 393 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนักเช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์เลือด

องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติงานเชิงซ้อนในขั้นตอนการประเมินต้นทุนเนื้องาน การผลิตชิ้นงาน และขั้นตอนทดสอบมาตรฐานชิ้นงาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการยานพาหนะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจให้บริการแอปพลิเคชัน เป็นต้น

สำหรับเดือนมกราคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต อาทิ

  • บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมทั้งสำหรับการสั่งซื้อสินค้าและบริการ
  • บริการขุดเจาะปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย
  • บริการตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาสินค้าประเภทเครื่องมือแพทย์
  • บริการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร เป็นต้น

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือนมกราคม 2565 นี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 27 ราย และนักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 8 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้

โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 1,575 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ 3 ลำดับแรกเป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 4 ราย ลงทุน 660 ล้านบาท ฮ่องกง 1 ราย ลงทุน 826 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ 1 ราย ลงทุน 50 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ 2) บริการให้เช่าที่ดินและอาคาร ในนิคมอุตสาหกรรม และ 3) บริการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น

คาดว่าตลอดปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ผ่อนคลายขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นสัญญาณจากการลงทุนของบริษัทไทยและต่างชาติที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มการลงทุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นรมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย