Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ม.มหิดล ชี้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เน้นประโยชน์สุขภาพ

Onlinenewstime.com : วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FOA) กำหนดให้เป็น “วันดื่มนมโลก” เพื่อรณรงค์ให้ประชากรโลกเห็นถึงความสำคัญของการดื่มนม ซึ่งถือเป็นอาหารที่เป็นพลังชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่กำเนิด 

เป็นที่ทราบกันดีว่า นมมีประโยชน์มากมาย สามารถเลือกบริโภคได้ในหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่งพบเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทย โดยมีอาการถ่ายเหลว ไม่สบายท้อง และท้องอืด ก็สามารถเลือกดื่มนมปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose-free milk) ได้ โดยที่ผ่านมา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวเป็นที่แรกๆ ในประเทศไทย และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนบางราย จนในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในท้องตลาด

เช่นเดียวกัน การรับประทานนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหากับการรับประทานนม 

รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึง โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ว่า คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยทั่วไปจ ะต้องมีจำนวนขั้นต่ำหนึ่งล้านเซลล์ต่อกรัมในผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาหารโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่รู้จักกันดี ได้แก่ นมเปรี้ยว หรือผลิตภัณฑ์นมหมักอื่นๆ นั่นเอง 

ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ต่างจากผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งเป็นสารที่ส่วนใหญ่มาจากพืช พอรับประทานเข้าไปแล้ว จะถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ของเรา ซึ่งจะเติบโตได้มากขึ้น และผลิตสารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นภายในลำไส้ของเรา

การรับประทานนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรับประทาน หากต้องการควบคุมดูแลน้ำหนัก อาจเลือกนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติไขมันต่ำ (low fat) และอาจดูได้จากสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งสามารถใช้ในการช่วยเลือกผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม หรือเกลือในปริมาณสูง 

รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด หากใช้จุลินทรีย์ที่ทดสอบแล้วว่าปลอดภัย และมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจน ซึ่งในประเทศไทย จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) โดยมากที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังพบว่า การเก็บรักษาจุลินทรีย์ที่มีชีวิตด้วยการแช่แข็ง ต้องใช้ต้นทุนสูง และการผลิตจุลินทรีย์แบบผง แม้จะง่ายต่อการเก็บรักษา ขนส่ง และนำไปใช้งาน แต่ทำให้ได้จุลินทรีย์ที่มีชีวิตน้อยลง ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายสำหรับนักวิจัยด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ของไทยว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้เองภายในประเทศ ในรูปแบบผงซึ่งมีจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนมากพอ ที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

“ผลิตภัณฑ์อาหารโพรไบโอติกส์ (Probiotics) กำลังเป็นที่สนใจของตลาดผู้บริโภคที่เน้นเรื่องสุขภาพ ซึ่งพบว่ายังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่มาก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มักติดขัดในเรื่องประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ที่ต้องมีผลงานการศึกษาวิจัยในคนซึ่งพิสูจน์และอ้างอิงได้ สำหรับการขออนุญาตกล่าวอ้างประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งยังพบอุปสรรคจากการไม่คุ้นเคยของผู้บริโภคในเรื่องรสชาติ ตลอดจนคุณภาพระหว่างการเก็บรักษา ฯลฯ

ซึ่ง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือ และองค์ความรู้ ให้บริการประชาชนที่สนใจ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และหน่วยวิจัยที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการที่จะศึกษา วิจัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมประเทศชาติ  และมวลมนุษยชาติ” รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา กล่าวทิ้งท้าย

Exit mobile version