Onlinenewstime.com : ปัญหาวิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย รวมทั้งปรากฏการณ์ที่พลิกโฉมโลกแห่งการศึกษา ที่ต้องปรับสู่ระบบออนไลน์ ทำให้นักศึกษาและผู้ปกครอง ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการต้องจัดหาอุปกรณ์ทางการศึกษา ให้เอื้อต่อการเรียนในระบบดังกล่าว ท่ามกลางปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากวิกฤติ COVID-19 เช่นปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีนโยบายช่วยเหลือนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 อย่างเต็มที่ โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณเกือบ 4 ล้านบาท เพื่อมอบเป็นทุนช่วยเหลือแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 700 ทุน ทุนละ 5,000 บาท
นอกเหนือจากการช่วยเหลือ โดยให้ผ่อนผันชำระค่าเทอม การคืนค่าเทอมบางส่วน การให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาปลอดดอกเบี้ย การยกเว้นค่าน้ำค่าไฟสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่อยู่หอพัก รวมทั้งการให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่เรียนออนไลน์ สามารถคืนหอพักได้โดยไม่เสียค่าปรับ ฯลฯ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังห่วงใยดูแลสุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนเป็นอย่างดี โดยได้มอบสวัสดิการประกัน COVID-19 ให้เป็นรายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่เรียนออนไลน์นั้น ยังสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินสิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ โดยไม่ต้องย้ายสิทธิ์ในวงเงินที่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อปี
ตลอดจนได้จัดบริการ “Mahidol Friends” เพื่อให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และความเครียดที่เกิดจากวิกฤติ COVID-19 และการเรียน รวมทั้งบริการ Hotline ที่นักศึกษาสามารถโทรมาปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ยังสามารถใช้บริการแอปพลิเคชั่น OOCA เพื่อใช้วิดีโอคอล ปรึกษาปัญหากับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยามืออาชีพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
“น้องเติ้ล” นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ในวิทยาเขตต่างจังหวัดแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนช่วยเหลือจากวิกฤติ COVID-19 ดังกล่าวเล่าว่า ตนได้นำทุนที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมหิดล ไปซื้ออุปกรณ์เพื่อการเรียนในระบบออนไลน์ ในราคาที่ไม่แพงนัก รวมทั้งได้ใช้เพื่อเป็นค่าครองชีพของครอบครัว ในระหว่างที่ผู้ปกครองต้องหยุดพักทำงานเนื่องจากวิกฤติ COVID-19
ซึ่งตนได้มีการปรับตัว โดยฝึกวางแผนให้ใช้จ่ายอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มองหางานพิเศษทำ เพื่อจุนเจือครอบครัวในยามที่ขาดแคลนรายได้ ซึ่งทุนที่ได้รับ 5,000 บาทนั้น สามารถต่อชีวิตของครอบครัว ในยามขาดแคลนได้
ตั้งใจว่าหากในภายภาคหน้าตนมีกำลังทรัพย์ จะขอกลับมาเป็น “ผู้ให้” เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ดังที่มหาวิทยาลัยมหิดลมอบให้ เพื่อต่อชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ต่อไป
นอกจากทุนช่วยเหลือนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 แล้ว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดสรรทุนเพื่อช่วยแหลือนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งแบบให้ครั้งเดียว 50,000 บาท และแบบให้อย่างต่อเนื่องปีละ50,000 บาทจนจบการศึกษา อีกเกือบ 300 ทุน โดยพิจารณาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีผลการเรียนสะสม หรือ GPA ไม่ต่ำกว่า 2.25 และคัดเลือกจากใบสมัครและการสัมภาษณ์
“น้องมิมม์” นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยมหิดลหนึ่งในผู้ได้รับทุน ซึ่งมาจากต่างจังหวัด และเดินทางคนเดียวเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรก ตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ชีวิตโดยเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่เกี่ยงแม้งานขายรองเท้าในตลาดนัด
โดยเชื่อมั่นว่าทุกงานให้ประสบการณ์แก่ชีวิตได้เหมือนกัน ซึ่ง “งานที่ยิ่งใหญ่ คือ งานที่ทำด้วยความตั้งใจและทุ่มเท” ตอนเห็นประกาศชื่อตัวเอง ได้รับทุน 50,000 บาทรู้สึกเหมือนมี “รถฟักทอง” มาจอดรอตรงหน้า ทำให้ชีวิตที่กำลังติดขัด เหมือนอยู่ในทางตัน ได้เห็นทางสู่แสงสว่างอีกครั้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า”Career Support Service” เพื่อช่วยเหลือนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล หางานทำในระบบออนไลน์ และจัดสรรงบประมาณสำหรับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าถึงบทเรียนออนไลน์ LinkedIn Learning เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลอย่างรอบด้าน
ซึ่งจะสามารถเข้าถึงได้จากแอปพลิเคชัน We Mahidol โดยเชื่อว่า จะเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลได้อย่างยั่งยืน และคาดว่าระบบดังกล่าว จะพร้อมใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งจะสามารถส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในภาพรวมได้ส่วนหนึ่งต่อไป