fbpx
News update

ม.แม่โจ้ เร่งพัฒนาวิจัย-ปลูก “กัญชาสายพันธุ์ไทย” ยกระดับการแพทย์ไทยครบวงจร สู่อุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน

Onlinenewstime.com : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ติดตามผลงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology& Innovation) ตอบโจทย์แนวทาง ภารกิจการพลิกโฉมฯ ล่าสุด ม.แม่โจ้ 

พาเยี่ยมชมโรงเรือนกัญชาระดับอุตสาหกรรมเพื่อการแพทย์และพาณิชย์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดินหน้าพัฒนาวิจัย-ปลูก “กัญชา” สายพันธุ์ไทย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการผลิตปัจจัยการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการแพทย์ไทยครบวงจร มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ Reinventing University ผ่านโครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้โปรแกรม 16 โครงการปฏิรูประบบ อววน. แผนงานย่อย “การพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูง”

ภายใต้งบประมาณสนับสนุน จำนวน 88,706,000 บาท มหาวิทยาลัยฯ ได้ส่งมอบผลผลิตตัวชี้วัดตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 9 ตัวชี้วัด MJU Enhancing SMEs and New Entrepreneurs with Smart and Modern Agricultural Technology Innovation (SMATI) องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร ความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล เครือข่ายความร่วมมือ มุ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางและมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University)

“ทั้งนี้การขับเคลื่อนการพลิกโฉมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology Development and Innovation) ได้เดินหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตตัวชี้วัด มีหน่วยงาน ผู้ประกอบการ จำนวน 53 กลุ่มวิสาหกิจต่อธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ เชียงราย น่าน สุโขทัย ลำปาง พิจิตร ตาก และขอนแก่น ได้สำเร็จลุล่วง และต้องส่งมอบตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 9 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 

  1. การสนับสนุนด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  
  2. จัดทำ Module สำหรับฝึกอบรมผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร  
  3. จัดพื้นที่ผลิตการเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรและอาหาร  
  4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย จำนวน 88 ผลิตภัณฑ์  
  5. พัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2 สาขาวิชา
  6. เตรียมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 57 คน
  7. วางเป้าผู้ประกอบการใหม่ที่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนา 2,117 คน  
  8. ผลักดันธุรกิจใหม่ (SMEs) สร้างธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย จำนวน 54 กิจการ  และ
  9. สร้างตลาดหรือช่องทางการจำหน่ายสินค้า และบริการผู้ประกอบการใหม่กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”

นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ  ได้ทำโครงการโรงเรือนกัญชาระดับอุตสาหกรรมเพื่อการแพทย์และพาณิชย์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเป็นฐานการเรียนรู้แปลงกัญชาเพื่อรักษาโรคที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรมการแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง (แยกตามปริมาณสาร THC ที่มีเกิน 1% เป็นกัญชาและต่ำกว่า 1% คือกัญชง)ในระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรม

มีการปลูกกัญชาจำนวนกว่า 50,000 ต้น แปลงใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการผลิตปัจจัยการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ อาทิ การผลิตปุ๋ยหมักระดับอุตสาหกรรม การเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ การทดสอบสารสกัดน้ำมันกัญชา โรงเรือนการปลูกต้นกล้ากัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยแบบครบวงจรในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology& Innovation) มีการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม ออกแบบวางแผนระบบการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตรงตามแนวทางในการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยด้านพัฒนาเทคโนโลยีในระดับศูนย์กลางในเขตภาคเหนือ เดินหน้าโครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่

ภายใต้โปรแกรม 16 โครงการ ปฏิรูประบบ อววน. แผนงานย่อย “การพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูง” จากการติดตามผลตัวชี้วัด จำนวน 9 ตัวชี้วัด รุดหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในอนาคต

สำหรับโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ Reinventing University แบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่มยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research)

2. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology& Innovation)  

3. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community)

4. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา (Moral & Intellectual) และ

5. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง (Specialized& Professional)