Onlinenewstime.com : ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเลย ให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและพักผ่อน หรือ Leisure Loei เพราะมีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนอยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการวางเป้าหมายพัฒนา ให้จังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับเวิร์ลคลาส (World Class Destinations) โดยนำความสำเร็จที่ อพท. พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว ยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและพักผ่อน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ในการดำเนินงานนอกจาก อพท. ได้นำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT เป็นหลักในการพัฒนา ให้พื้นที่และชุมชนเกิดความยั่งยืน
อพท. ยังได้นำ นโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กำหนดไว้ 4 ด้าน เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ Safe การท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย Clean สะอาดสวยงาม Fair มีความเสมอภาค เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือหลอกลวงนักท่องเที่ยว บริการด้วยใจ และ Sustainability ความยั่งยืน สร้างชุมชนท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถ ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง
ซึ่ง อพท. ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ควบคู่กันไปทำให้การพัฒนาพื้นที่อำเภอเชียงคานรุดหน้ายิ่งขึ้น
นำร่องสร้างการรับรู้ “เชียงคาน”
สำหรับแนวทางยกระดับ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและพักผ่อน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อพท. ได้นำร่อง “เชียงคาน” เป็นอำเภอแรก เพราะอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ ในแต่ละปีมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เป็นจำนวนรวมมากถึงปีละกว่า 1 ล้านคน
แต่ความเข้มแข็งของชุม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังทำให้ถนนสายเล็กๆ เลียบแม่น้ำโขง ของอำเภอเชียงคาน ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คงไว้เสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่นการใส่บาตรข้าวเหนียว การทำผาสาดลอยเคราะห์ หรือวิถีประมงแม่น้ำโขง ยังคงยืนหยัดต่อไปได้ และเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสนใจ
และวันนี้ เชียงคานกำลังก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล ด้วยการเสนอตัวเข้าสู่การจัดอันดับ Sustainable Destinations TOP 100 ในงานมหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง ITB ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 2564
อพท. จึงได้นำนโยบายดังกล่าว ผนวกกับแนวทางการพัฒนาตามเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทาง ในการพัฒนาขยายพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเชื่อมโยงกับถนนคนเดินของเชียงคาน
โดยพัฒนาชุมชนชาไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เพื่อยกระดับ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่จะนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว
อีกทั้งจังหวัดเลยยังได้สร้างสกายวอร์ค แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ให้กับเชียงคาน ที่ภูคกงิ้ว ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน สกายวอร์คแห่งนี้ มีความสูงเท่ากับตึก 30 ชั้น เป็นจุดชมวิวงดงามของแม่น้ำโขง และแม่น้ำเหือง ที่กั้นชายแดนระหว่างไทยกับสปป.ลาว
ยกระดับชุมชนไทดำ
ในส่วนของบ้านนาป่าหนาด ซึ่งเป็นชุมชนไทดำ ที่ยังคงวิถีชีวิต ที่มีอัตลักษณ์ดงาม ชุมชนแห่งนี้ อพท. ได้นำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC มาพัฒนายกระดับ ให้ชุมชนมีความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยว
สำหรับชุมชนชาวไทดำ ที่บ้านนาป่าหนาด สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน อาหาร การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ และประเพณีวัฒนธรรม
นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมา จะได้ทดลองทำตุ้มนกตุ้มหนู โคมไฟไทดำ หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจชุดไทดำ สามารถเปลี่ยนชุด และใส่ชุดไทดำไปร่วมทำกิจกรรมร่วมกันกับชาวไทดำ ซึ่งได้รับความสนใจแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก
เชียงคานวันนี้จึงมีความยั่งยืน ที่สามารถรักษาวิถีชีวิต และยังทำให้นักท่องเที่ยว ใช้เวลาพักได้นานขึ้น และยังได้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เมื่อการท่องเที่ยวมีผลต่อการกระจายรายได้ รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงให้ความสำคัญกับตลาดการท่องเที่ยว หรือ Tourism Market แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แต่ก็ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการเดินทางภายในประเทศได้ จากกลุ่มคนไทยและต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย (Expat)
ดังนั้นในวันที่ 10-11 ตุลาคม 2563 ภายใต้แคมเปญ Explore the Unseen Thailand หรือ “เรารู้จักกันดีพอหรือยัง” ที่มีเป้าหมาย คือเชิญชวนเพื่อนชาวต่างชาติที่พำนักหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้รู้จักประเทศไทยและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย มากยิ่งขึ้น จึงได้เชิญเพื่อนชาวต่างชาติกลุ่มนี้ ซึ่งมีศักยภาพการเดินทาง และจับจ่าย ไปเที่ยวชมวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายของเชียงคานและเสน่ห์ของจังหวัดเลย