Onlinenewstime.com : อพท. เตรียมยกระดับ “เชียงคาน” ขึ้นแหล่งท่องเที่ยว ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก พร้อมขยายฐานนักท่องเที่ยว สู่กลุ่มผู้สูงวัยและผู้มีข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยว หวังเพิ่มรายได้ให้กระจายลงสู่ชุมชนได้มากขึ้น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมให้ความร่วมมือ
นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท. 5) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศทย.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้หารือกับเทศบาลตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย เตรียมยกระดับ “เชียงคาน” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานระดับสากล
โดย อพท. จะนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของสภาการท่องเทียวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council Criteria (GSTC) ซึ่ง อพท. เป็นภาคีเครือข่าย มาเป็นกรอบในการสร้างองค์ความรู้ ต่อยอด ประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของอำเภอเชียงคาน
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากร และเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ให้สามารถนำไปบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืน ในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่คนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น
“อพท. ได้หารือร่วมกับทุกฝ่าย ที่เป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเชียงคาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน GSTC
โดยประชาชนในชุมชน ต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบาย Co-Creation คือร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ เป้าหมายของ อพท. คือจะนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบ ในการพัฒนาอำเภอเชียงคานเพื่อเป็นพื้นที่นำร่อง และวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ ให้เชียงคานสามารถก้าวขึ้นสู่รางวัล Top 100 Green Destinations ของงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ITB กรุงเบอลิน”
อย่างไรก็ตาม อพท. ยังให้ความสำคัญ กับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ บนฐานความยั่งยืนที่ช่วยเพิ่มและลดผลกระทบ อันเกิดจากการพัฒนาการท่องเที่ยว ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
โดยมีแนวทางในการส่งเสริม และเตรียมความพร้อมให้เชียงคานเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยว เช่น ผู้ที่เดินทางด้วยรถเข็นหรือ วีลแชร์ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ จะนำโอกาสใหม่ๆ มาให้กับอำเภอเชียงคาน
รวมทั้งจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สัดส่วนของนักท่องเที่ยวในอนาคต จากเดิมที่เดสติเนชั่นแห่งนี้ นักท่องเที่ยวหลักจะเป็นตลาดของคนหนุ่มสาวและวัยทำงาน ซึ่งในเชิงพื้นที่จะได้เรื่องของปริมาณหรือจำนวนนักท่องเที่ยว
การขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้สูงวัย และผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มรายได้จากการจับจ่าย ช่วยกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่ม นี้มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนั้นในเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ยังให้ความสำคัญ กับการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
ทางด้านนายจักรพันธ์ สายจันทน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน กล่าวว่า ยินดีที่จะให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับ อพท. เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคาน ซึ่งโครงการสร้างการทำงาน จะขับเคลื่อนผ่านภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่ ภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของการพัฒนาครั้งนี้ เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวมีระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน โดยชุมชนท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวสามารถกระจายสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายที่ร่วมกับ อพท. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต